อาหารที่เรารับประทานทุกวันนี้ หากไม่ได้ซื้อมาทำเอง ก็คงต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยที่จะมีสารปนเปื้อนอันตรายต่อร่างกายอยู่ หรือต่อให้ซื้ออาหารสดมาทำเองก็ต้องสังเกตความผิดปกติด้วย เพื่อไม่ให้เราต้องตกเป็นเหยื่ออันตราย ดังนั้นเราจึงควรสังเกต และรับรู้ถึงอันตรายจากสารพิษเหล่านั้น
- สารเร่งเนื้อแดง
แหล่งที่พบ : พบมากในเนื้อหมูสด เพื่อให้มีสีแดงน่ารับประทาน
การสังเกต : เนื้อมีสีแดงมากผิดปกติ
อันตรายจากพิษสะสม : อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียนเวียนศีรษะ มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งจากการได้รับสารเคมีเป็นเวลานาน
- สารฟอกขาว
แหล่งที่พบ : ขิงซอย ถั่วงอก น้ำตาลปี๊บ หน่อไม้ ขมิ้นขาว
การสังเกต : อาหารเหล่านั้นมีสีขาวซีดผิดปกติ
อันตรายจากพิษสะสม : คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ความดันต่ำ ไตวาย อาจเสียชีวิตได้
- สารกันรา
แหล่งที่พบ : ผัก และผลไม้ดอง
การสังเกต : ผัก และผลไม้ รวมถึงน้ำหมักดองที่ดูสดใหม่เสมอ แม้เก็บไว้เป็นเวลานาน
อันตรายจากพิษสะสม : ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้ มีอาการผื่นคัน อาเจียนและหูอื้อ
- สีผสมอาหาร
แหล่งที่พบ : อาหารประเภทข้าวเกรียบ ทอดมัน กุนเชียง หรือขนมที่ใช้สีเพื่อความสวยงาม
การสังเกต : มีสีที่สดกว่าอาหารโดยทั่วไป หรือขนมที่ใช้สีที่ไม่อาจหาได้จากธรรมชาติ
อันตรายจากพิษสะสม : รับประทานมากอาจเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ตับ และไตอักเสบ หรืออาจเกิดมะเร็งจากสารเคมีสะสม และพิษจากโลหะหนัก
- ฟอร์มาลิน
แหล่งที่พบ : ผักสด และอาหารทะเล
การสังเกต : ผักมีลักษณะแข็งกรอบผิดปกติ อาหารทะเลมีบางส่วนแข็งบางส่วนเปื่อยยุ่ย
อันตรายจากพิษสะสม : เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง และเยื่อบุทางเดินหายใจ บางรายคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรงจนอาจหมดสติได้
- ยาฆ่าแมลง
แหล่งที่พบ : ผัก และผลไม้สด ปลาแห้ง
การสังเกต : ผักใบไม่มีการกัดแทะของแมลง ผลไม้มีผิวสวย ปลาแห้งที่แม้อยู่กลางแจ้งก็ไม่มีแมลงวันตอม
อันตรายจากพิษสะสม : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ระยะยาวอาจก่อให้เกิดมะเร็ง หากเป็นพิษเฉียบพลัน กล้ามเนื้อสั่น ชักกะตุก หายใจติดขัด หมดสติ และหยุดหายใจได้
- บอแรกซ์
แหล่งที่พบ : ผักกาดดอง ลูกชิ้น หมูยอ มะม่วงดอง กล้วยทอด ขนมหวานบางประเภท
การสังเกต : มีลักษณะกรุบกรอบมากเป็นพิเศษ
อันตรายจากพิษสะสม : อาเจียน น้ำหนักลด มีผื่นคัน ปวดท้อง กรวยไตอักเสบ
- สารกันบูด
แหล่งที่พบ : เส้นก๋วยเตี๋ยว หมูยอ ลูกชิ้น กุนเชียง และอาหารที่มีวันหมดอายุนาน
การสังเกต : สังเกตด้วยตาเปล่าไม่ได้
อันตรายจากพิษสะสม : หากรับในปริมาณที่น้อย ร่างกายสามารถขับออกได้เอง แต่หากรับในปริมาณมาก หรือเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร หรืออาจช็อกเฉียบพลันได้
เห็นแบบนี้แล้วเพื่อนๆ ต้องพิถีพิถันตั้งแต่เลือกซื้ออาหารกันเลยนะคะ โดยควรเลือกซื้อจากร้านที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร เมื่อซื้อแล้วก็ควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน สังเกตสี และกลิ่นของอาหารก่อนปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนค่ะ