เมื่อพูดถึงโรคที่มาพร้อมยุงแล้ว หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับแรก แต่ที่จริงแล้วเจ้ายุงที่อยู่รอบตัวเรา สามารถส่งต่อโรคร้ายเข้าสู่คนได้หลายโรค สำหรับประเทศไทยพบ 5 โรคที่สำคัญดังนี้ค่ะ
1. ไข้เลือดออก
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่
พาหะ : ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และ ยุงลายสวน (Aedesalbopictus)
อาการ : ไข้สูง 2 – 7 วัน โดยส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40 – 41 องศา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ แต่จะปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจจะมีท้องเสีย อาเจียนหรือผื่นขึ้นตามตัวได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจะเกิดการอักเสบของตับ เกิดภาวะน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตต่ำ หรือเลือดออกรุนแรงได้
2. ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา
พาหะ : ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และ ยุงลายสวน (Aedesalbopictus)
อาการ : เป็นโรคที่มีความคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะมาก อาเจียน อ่อนเพลีย แต่จะมีอาการปวดตามข้อร่วมกับอาการไข้ด้วย โดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ลักษณะของอาการปวดข้อ จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางครั้งจะอักเสบบวมแดง และเจ็บจนกระทั่งไม่สามารถขยับข้อได้
สำหรับการรักษาไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อลดไข้
* ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพรินในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้
3. ไข้ซิกา
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา
พาหะ : ยุงลาย
อาการ : หลังจากได้รับเชื้อไวรัส 4-7 วัน จะมีอาการไข้ขึ้น ปวดศีรษะมาก ออกผื่นตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ปวดข้อ ข้อบวม ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัวต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาจมีอุจจาระร่วง เป็นต้น อาการมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3 – 7 วัน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 2-7 วัน บางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ
สำหรับการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์อาจทําให้เด็กที่คลอดออกมามีภาวะศีรษะเล็ก ดังนั้นหญิงที่กำลังตั้งครรภ์จะต้องระมัดระวังการถูกยุงกัดมากเป็นพิเศษ
4. มาลาเรีย
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อปรสิตพลาสโมเดียม
พาหะ : ยุงก้นปล่อง
อาการ : ไข้สูงหนาวสั่นมาเป็นช่วงๆ อาการไข้นี้เกิดจากเชื้อทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยก็จะมีอาการหนาวสั่นพร้อมกันกับที่มีอาการซีดโลหิตจางลง มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเหนื่อยตัวเหลืองตาเหลือง ตับม้ามโต ในรายที่มีการติดเชื้อทำให้เกิดความผิดปกติของสมองอาจจะเกิดอาการชักเกร็ง ซึมลง หรือเสียชีวิตได้
5. โรคเท้าช้าง
สาเหตุ : เกิดจากปรสิตฟิลาเรีย
พาหะ : ยุงลายเสือ ยุงลายบางชนิด และยุงรำคาญ
อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยอาจพบได้บริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อน้ำเชื้ออสุจิ หรือเต้านม ผิวหนังบริเวณที่อับเสบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองคั่ง คลำเป็นก้อนขรุขระ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการบวมชัดเจน
อาการของโรคที่ติดต่อโดยแมลงแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์
อาเจียนมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้เพียงพอ ปวดท้องมาก มีเลือดออกรุนแรง เช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด ไข้ลดลง ตัวเย็นผิดปกติ มือเท้าเย็น เหงื่อแตกกระสับกระส่าย ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หอบเหนื่อย และมีอาการบวม
การป้องกันโรคที่ติดต่อโดยแมลง
– ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายมิดชิด โดยเฉพาะเสื้อผ้าโทนสีสว่าง และใช้ยากันยุงเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด
– ติดอุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด ในจุดที่ยุงอาจจะเข้าตัวบ้าน หรือใช้พัดลมในการเป่าพื้นที่ที่มืด เช่น ใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันการกัดของยุง
– ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทำลายแหล่งน้ำขังที่ไม่จำเป็น เช่น น้ำในยางรถยนต์ น้ำขังนอกบ้าน แหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้ก็ให้หาภาชนะมาปิดให้เรียบร้อย
– สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ควรระวังยุงกัดเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ รวมทั้งยาที่ใช้ในการรักษาบางชนิดก็มีข้อห้ามในการใช้กับคนที่ตั้งครรภ์ด้วย