บาดทะยัก หรือ การติดเชื้อจากแบคทีเรียเมื่อเกิดบาดแผล ที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณใบหน้า ขากรรไกร หน้าท้อง แขนขา และมีไข้สูงร่วมด้วยแม้ว่าในปัจจุบันโรคดังกล่าวจะมีวัคซีนสำหรับป้องกันแล้ว แต่หากชะล่าใจ หรือปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยบทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส จึงได้รวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับบาดทะยัก โรคอันตรายที่ควรระวัง เมื่อเป็นแผลต้องทำอย่างไร ? มาฝากกัน
ทำความรู้จักกับ “บาดทะยัก”
โรคบาดทะยัก (Tetanus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani ที่สามารถพบได้ในดิน ฝุ่น น้ำลาย และมูลสัตว์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคบาดทะยักได้ง่าย โดยการติดเชื้อจะมาจากการสัมผัสสิ่งสกปรกขณะมีแผลเปิด เช่น แผลจากของมีคม แผลถลอก เป็นต้น ที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณตามร่างกายเกิดหดเกร็ง และอาการอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น มีไข้สูง เจ็บปวดบริเวณแผล รู้สึกเหงื่อแตก หายใจลำบาก ฯลฯ มักพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ และคนทั่วไป
แผลเปิดแบบไหนสามารถติดเชื้อ บาดทะยัก ได้
- บาดแผลจากของมีคม
- หกล้ม
- โดนทิ่มแทงจากเสี้ยนไม้ หรือตะปูตำ
- สัก หรือเจาะ
- ใช้เข็มฉีดยาไม่สะอาด
- แผลไฟไหม้
- การผ่าตัด จากอุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- เกิดอุบัติเหตุกระดูกหักออกมานอกผิวหนัง
- เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผล
- ฟันผุ
- การโดนยิง ฯลฯ
ลักษณะอาการแบบไหนบ่งชี้ว่า ร่างกายกำลังติดเชื้อ “บาดทะยัก”
สำหรับการติดเชื้อ Clostridium Tetani มักจะมีอาการประมาณ 4 – 21 วันหลังจากการติดเชื้อ หรือโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก จะมีลักษณะอาการ ดังนี้
- ปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา มือ หลัง และเท้า
- กล้ามเนื้อกระตุก
- ขากรรไกรบริเวณปากอ้าลำบาก และมีปัญหาการกลืนอาหาร
- มีไข้ขึ้นสูง ปวดหัว เหงื่อออก หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ท้องเสีย
- ความดันโลหิตสูง
- น้ำลายไหล
อาการเกร็งของ “บาดทะยัก” ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร
เมื่อร่างกายติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นระยะ ๆ โดยหลังจากนั้นจะมีอาการเกร็ง คอเกร็ง หลังเกร็ง และอ้าปากไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจ อาจมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงได้ รวมถึงการที่ร่างกายมีภาวะเกร็งมากเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อมีการสลายตัว หรือถึงขั้นกระดูกหัก ดังนั้น หากพบถึงความผิดปกติหลังจากมีบาดแผล ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที
การรักษาบาดทะยัก เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ
ในการดูแลรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะซักถามประวัติของคนไข้ ว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง มีลักษณะอาการอย่างไร หรือมีบาดแผลมาจากสาเหตุใด เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาตามอาการได้อย่างถูกต้อง โดยวิธีการรักษาอาการติดเชื้อบาดทะยัก มีดังนี้
-
ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ
แพทย์จะให้ยาเพื่อลดอาการหดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อของผู้ป่วย
-
ยาปฏิชีวนะ
เป็นการนำยาปฏิชีวนะสำหรับการฆ่าเชื้อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย และบรรเทาอาการ
-
ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน
เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันเองและบรรเทาอาการปวดเกร็งจากการติดเชื้อ
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เกิด “บาดทะยัก”
- ระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผล
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบ
- หากมีบาดแผล ควรล้างน้ำสะอาดโดยทันที ไม่ปล่อยให้แผล สัมผัสกับเชื้อโรค
- เช็ดแผลด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์ เบตาดีนสำหรับฆ่าเชื้อ
- ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรือผ้าก๊อซสะอาด
- หากรู้สึกถึงอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกัน “บาดทะยัก”
- เด็กเล็กก่อนครบอายุ 2 ปี
ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ให้ครบ และไอกรนชนิด DTap 4 ครั้ง - อายุระหว่าง 4-6 ปี
ฉีดเข็มกระตุ้นโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนชนิด Tdap - อายุระหว่าง 11-12 ปี
แนะนำฉีดเข็มกระตุ้นโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรนชนิด Tdap อีกครั้ง
ทั้งนี้ หลังจากฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อครบอายุ 12 ปี ควรมาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และคอตีบอีกครั้งในทุก ๆ 10 ปี
กรณีมี “บาดแผล” ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคบาดทะยัก และเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ท่านสามารถขอเข้ารับยาได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา:
บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ จาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรคบาดทะยัก จาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรค
Symptoms of Tetanus จาก บริการสุขภาพแห่งชาติ
Lockjaw จาก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา
Tetanus Vaccine จาก WebMD
Tetanus จาก Mayo Clinic
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ