โรคภูมิแพ้ตัวเอง หนึ่งในภัยเงียบจากภูมิคุ้มกันปกติ ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่ในปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ โรคภูมิแพ้ตัวเองคืออะไร และมีสาเหตุมาจากอะไรกันนั้น วันนี้ เอ็กซ์ต้า พามาทำความรู้จักกันค่ะ
โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่รู้จักกันในนาม โรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านของร่างกายจากที่ปกติมีไว้ป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีร่างกาย กลับมาทำลายตัวเองโดยไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ข้อ หลอดเลือด ปอด หัวใจ ไตหรือแม้กระทั่งระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดความเสียหายและอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ถ้าการอักเสบนั้นรุนแรงเกินการควบคุม และเกิดที่อวัยวะที่สำคัญเช่นไตหรือระบบหลอดเลือด
SLE ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถแพร่กระจายทางการสัมผัสระหว่างบุคคลได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค SLE ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลากหลายที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมน ความเครียด สภาพแวดล้อมหรือแม้กระทั่งยา จึงไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้
แต่สิ่งที่สามารถทำเพื่อลดโอกาสในการเป็นได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น แสงแดด ความเครียด หรือการใช้ยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคเช่นยากันชัก
อาการของ โรคภูมิแพ้ตัวเอง
อาการของโรค SLE มีหลากหลาย เช่น
- ผื่นแดงตามลำตัว และผื่นแดงที่จมูกและแก้มหรือที่เรียกว่าผื่นผีเสื้อ
- การอักเสบของข้อต่าง ๆ ในร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
- มีไข้ และอาการอ่อนเพลีย
ซึ่งความรุนแรงก็จะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ ถ้าอาการของโรครุนแรงไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้มีอวัยวะภายในอักเสบส่งผลให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไตวายที่จะมีอาการแสดงคือความดันโลหิตสูง มีโปรตีนและเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่เท้าทั้ง 2 ข้าง หรืออาการทางสมอง หลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น
การรักษา โรคภูมิแพ้ตัวเอง
ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรค SLE ให้หายขาดได้ ยาที่ใช้จะเป็นยาที่ลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยและแนะนำยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ถ้าตรวจเจอและทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้โรคเข้าสู่ภาวะสงบหรือไม่แสดงอาการได้ ทำให้สามารถผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้อาการกำเริบเท่านั้น
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงแสงแดด และรังสียูวีที่ทำจะกระตุ้นทำให้อาการของโรคกำเริบ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น อยู่กลางแสงแดดตอนกลางวันเป็นระยะเวลานาน เล่นน้ำทะเล ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรป้องกันรังสียูวีโดยการสวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก ทาครีมกันแดด SPF50 ขึ้นไป ทานก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาทีและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงถ้าออกแดดจัดเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องประเภทของกีฬา เพียงแค่หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารเค็มและน้ำตาล รับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เช่น นม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยการทานอาหารที่มีแคลเซียม
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยา หรืออาการภูมิแพ้ สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Systemic Lupus Erythematosus (SLE), Center of Disease, Control and Prevention. 2022 July
- ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก. โรคเอสแอลอีหรือลูปัส. Paediatric Rheumatology International Trials Organisation (PRINTO) and Rheumatology European Society (PRES). 2016
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง