เหงือกบวม เป็น 1 ใน 6 ปัญหาสุขภาพช่องปากที่คนไทยหลายคนมักจะเป็นได้บ่อยที่สุดรองจากฟันผุ และคราบหินปูน โดยมีผลสำรวจเรื่องสุขภาพช่องปากของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า 18% ของคนที่สำรวจทั้งหมด มีปัญหาเหงือกบวม และบางคนมีอาการเหงือกอักเสบ บวม เป็นหนอง ซึ่งอาจสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การรับประทานอาหาร การพูดคุย รวมถึงความเจ็บปวดที่จะรบกวนสมาธิในการเรียน หรือการทำงานด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องรู้สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันที่ถูกต้อง เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) หรือโรคปริทันต์ (Periodontitis) และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ “เหงือกบวมหายเองได้ไหม? ดูแลรักษาอย่างไรไม่ให้เป็นหนัก” มาฝากกัน
เหงือกบวม คืออะไร?
เหงือกบวม (Swollen Gums) คือ ภาวะของเหงือกที่สุขภาพดี ซึ่งมีลักษณะเป็นสีชมพูอ่อน หรือสีชมพูแสด เปลี่ยนเป็นเหงือกที่มีภาวะผิดปกติ ซึ่งเหงือกจะเป็นสีแดงสด หรืออาจจะไม่เปลี่ยนสี พร้อมกับมีการบวมโตขึ้นมา และอาจมีเลือดออกบริเวณขอบเหงือกบ้างในบางราย เนื่องจากเกิดการอักเสบจากแบคทีเรียที่เกาะสะสมตามตัวฟัน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดฟันอยู่บ่อย ๆ อาการจะเป็นหนักหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบที่อาจเกิดจากสาเหตุของอาการที่แตกต่างกัน
สาเหตุของเหงือกบวม เกิดจากอะไร?
อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เหงือกบวมมีสาเหตุสำคัญมาจากการสะสมตัวของแบคทีเรียที่แฝงตัวอยู่ในคราบอาหารเหนียว ๆ กลายเป็นคราบพลัค (Plaque) ที่เกาะตามบริเวณผิวรากฟันส่วนที่ชิดกับเหงือก และปล่อยกรดออกมาทำลายชั้นเคลือบฟัน จากนั้นผ่านไป 72 ชั่วโมง คราบพลัคจะแข็งตัวกลายเป็นหินปูนตามขอบเหงือก ซึ่งจะทำความสะอาดได้ยากมาก ส่งผลให้เหงือกระคายเคืองจนติดเชื้อ และเกิดการอักเสบจนบวมแดงขึ้นมาในที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้แบคทีเรียสะสมอยู่รอบ ๆ ฟันตามแนวเหงือกได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเป็นเหงือกบวม เหงือกอักเสบ ได้แก่
- การแปรงฟันผิดวิธี ส่งผลให้บางส่วนของเหงือกและฟันไม่ได้รับการทำความสะอาด ทำให้เหงือกบริเวณนั้นเกิดแบคทีเรียสะสมจนบวมขึ้นได้
- การปล่อยให้หินปูนเกาะตามแนวฟันเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ไปพบแพทย์เพื่อขูดหินปูนออก จะเพิ่มโอกาสการบวมอักเสบตามเหงือกได้มากขึ้น
- การดื่มน้ำน้อย จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายที่ช่วยฆ่าแบคทีเรียได้น้อยลง ส่งผลให้แบคทีเรียสะสมตามเหงือกและฟันมากขึ้น และเกิดการบวมได้ง่าย
- การสูบบุหรี่ จะทำให้เนื้อเยื่อของเหงือกซ่อมแซมตัวเองได้ยากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพเหงือกแย่ลง และเกิดการบวมอักเสบที่เหงือกได้
- การใส่ฟันปลอมที่หลวม หรือแน่นเกินไป รวมทั้งการใส่เหล็กจัดฟัน เพราะต้องใช้เวลานานกว่าเหงือกจะปรับตัวเข้ากับอุปกรณ์ทันตกรรมเหล่านี้ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองจนเหงือกบวมแดง
นอกจากนี้ อาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เสี่ยงต่อสุขภาพช่องปากของแต่ละคนอีกด้วย อาทิเช่น
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยอาการเจ็บป่วยของโรคจะไปบั่นทอนให้สุขภาพเหงือกแย่ลง ทำให้เหงือกมีอาการบวมได้ง่ายขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ตั้งแต่ระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ ไปจนถึงระยะหมดประจำเดือน โดยฮอร์โมนที่แปรปรวนจะทำให้เหงือกมีความอ่อนไหว และมีอาการบวมได้ง่าย
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า และยารักษาโรคหัวใจ จะมีผลทำให้น้ำลายที่ปกป้องเหงือกและฟันมีปริมาณน้อยลง เพิ่มโอกาสให้แบคทีเรียเกาะตัวมากขึ้นจนบวมแดง
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดอาการเหงือกบวมมีระดับความรุนแรงที่ต่างกันตามมา ซึ่งจะมีตั้งแต่บวมแดงเล็กน้อยไปจนถึงขั้นวิกฤติหนัก เช่น มีหนองสะสมตรงบริเวณที่บวม มีอาการบวมชา รู้สึกเจ็บปวดมาก เป็นต้น
อาการ เหงือกบวม แบบไหนควรพบแพทย์?
เมื่อเหงือกติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว อาการเบื้องต้นที่รุนแรงเล็กน้อยจะมีสีเหงือกที่เปลี่ยนเป็นสีแดง มีอาการบวมอักเสบ มีเลือดออกระหว่างแปรงฟัน และรู้สึกปวดฟันบ่อย ๆ ทั้งนี้ หากเหงือกบวมมีความรุนแรงขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจมีอาการอื่นแทรกซ้อนจนเกิดการบวมในลักษณะที่ต่างกัน ดังนี้
-
อาการบวมจากโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์
สำหรับโรคเหงือกอักเสบ จะมีการบวมอักเสบบริเวณรอบฟัน มีกลิ่นปาก และรู้สึกเสียวฟัน บางรายอาจเลือดออกขณะแปรงฟันด้วย ส่วนอาการจากโรคปริทันต์จะส่งผลกระทบถึงกระดูกที่รองรับฟัน ทำให้ฟันโยก ฟันเคลื่อนออกห่าง อีกทั้งจุดที่เหงือกบวมจะเป็นหนอง และอาจไหลออกมาจากร่องเหงือก
-
อาการบวมจากผลข้างเคียงของยา
เหงือกบวมจะมีลักษณะบวมโต และหนามาก แต่เนื้อเหงือกแน่น และมีสีชมพูปกติ เมื่อสัมผัสโดนบริเวณที่บวมจะรู้สึกเจ็บปวดจี๊ด ๆ ขึ้นมา
-
อาการบวมจากการระคายเคือง
เช่น เหล็กที่ดัดฟันขูดกับเหงือกประจำ มีพื้นที่แหลมคมกระแทกเหงือกตลอดเวลา ส่งผลให้เหงือกบวมที่บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง และมีสีชมพู
-
เหงือกบวมจากฟันตาย
จะเป็นตุ่มเล็ก ๆ มีหนอง และเลือดไหลออกมาเป็นพัก ๆ บริเวณปลายรากฟัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ฟันผุบ่อย ๆ ซึ่งได้ลุกลามไปถึงชั้นโพรงประสาทฟันจนฟันตาย และมีหนองสะสมนั่นเอง
-
เหงือกบวมจากมะเร็ง
ถือเป็นอาการที่รุนแรงหนักที่สุด ซึ่งจะมีลักษณะฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีผิวขรุขระ บวมโต ชา และลุกลามไว ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร็วที่สุด
ลักษณะอาการเหงือกบวมเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหงือกและฟัน หากมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการปวดหนักขึ้นภายใน 3 – 4 วัน มีไข้ รวมทั้งมีหนองไหลตามบริเวณที่บวมอักเสบ แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที ส่วนการดูแลเหงือกในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก จะขออธิบายรายละเอียดต่อในหัวข้อถัดไป
เหงือกบวม หายเองได้ไหม?
ผู้ป่วยที่กำลังเป็นเหงือกบวมอยู่ แต่มีอาการไม่รุนแรงมาก สามารถหายเองได้โดยธรรมชาติ เพียงแค่หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมกับปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ให้ดีต่อสุขภาพ จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูอาการบวมอักเสบของเหงือกได้เร็ว
วิธีดูแลเหงือกไม่ให้เป็นหนักกว่าเดิม
ผู้ป่วยสามารถดูแลอาการไม่ให้เป็นหนักกว่าเดิมได้ด้วยตัวเอง โดยมีวิธีแก้เหงือกบวมที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้จะหายดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนี้
- แปรงฟันให้ถูกวิธี เพื่อขจัดคราบแบคทีเรีย เศษอาหาร และสิ่งสกปรกในช่องปากให้สะอาด ทำทุกครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน
- ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันหลังแปรงฟันเสร็จ
- หมั่นพบทันตแพทย์ปีละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อทำการขูดหินปูนที่เกาะตามแนวเหงือกและฟันออกเสมอ หรือถ้ามีอาการหนัก อาจเป็นการรักษารากฟันให้แข็งแรง
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ วันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อให้สุขภาพช่องปากมีความชุ่มชื้น ลดโอกาสการเกิดโรคได้ลดน้อย และช่วยส่งเสริมให้ร่างกายผลิตน้ำลายเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้มากขึ้น
- หากยังมีอาการอยู่ ให้ใช้ยาแก้เหงือกบวมเพื่อบรรเทาการบวมอักเสบ เช่น น้ำยาบ้วนปากที่มีตัวยาคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเหงือกบวม
เหงือกบวม กี่วันถึงจะหาย?
หากมีอาการไม่รุนแรงมาก พร้อมกับดูแลสุขภาพเหงือกอย่างดี เหงือกบวมจะหายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการหนักถึงขั้นรุนแรง จะใช้เวลารักษา เช่น การผ่าตัด และพักฟื้นเหงือกให้ดีขึ้นประมาณ 5 – 8 สัปดาห์
เหงือกบวม บีบได้ไหม?
ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะการบีบจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด ระคายเคือง และนำไปสู่อาการที่แย่ลงได้ โดยเฉพาะเหงือกบวมที่เป็นหนอง จะทำลายเนื้อเยื่อของเหงือก และแบคทีเรียเข้าไปทำลายเนื้อฟัน รวมทั้งโพรงประสาทฟันได้ง่ายขึ้นด้วย
เหงือกบวม เหงือกอักเสบรักษายังไง?
สำหรับกรณีที่เหงือกบวมรุนแรง จะทำการรักษาโดยการศัลยกรรมตกแต่งเหงือก และผ่าตัดก้อนที่บวมออกเพื่อให้รักษาสุขภาพช่องปากได้ง่ายขึ้น ส่วนอาการอยู่ในระดับปานกลาง เช่น เหงือกร่นไปด้านล่าง หรือรากฟันได้รับผลกระทบ จะรักษาด้วยการขูดหินปูน และเกลารากฟัน
สรุป
เหงือกบวม เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่หลายคนมักจะเป็นได้บ่อย โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเข้ามาสะสมตามแนวฟันเป็นเวลานาน จนเกิดอาการบวมที่มีลักษณะ และความรุนแรงต่างกันตั้งแต่ระดับเจ็บปวดเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรงหนัก สำหรับอาการเล็กน้อย หากดูแลรักษาเหงือก และฟันให้ดีอยู่เสมอ จะหายไปเองตามธรรมชาติภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการหนัก จะใช้เวลารักษาและพักฟื้นถึง 5 – 8 สัปดาห์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ เพื่อให้อาการดีขึ้น แนะนำให้ใช้ยาแก้เหงือกบวมประกอบกับการปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นไปด้วยพร้อม ๆ กัน จะช่วยให้อาการบวมอักเสบของเหงือกฟื้นตัวได้ไวขึ้น และมีโอกาสหายไวขึ้นด้วยนั่นเอง
ที่มา
Gingivitis and Periodontal Disease (Gum Disease) จาก WebMD
Gum Disease Risk Factors จาก American Academy of Periodontology
Gum Disease Treatment จาก Cleveland Clinic
How Long Does It Take For Gum Disease To Go Away จาก Gum Disease Guide
How to Treat Gum Disease จาก WebMD
ดื่มน้ำน้อย อาจทำให้เหงือกบวมได้ จาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุขภาพช่องปากที่หลากหลาย : ผลสำรวจออนามัยโพล พฤษภาคม 2567 จาก กระทรวงสาธารณสุข
เหงือกบวมแค่ไหนควรไปพบทันตแพทย์ จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เหงือกบวมอย่างไร ต้องไปพบทันตแพทย์ จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ จาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง