หน้าหนาวมาเยือนเมื่อไร เราก็จะนึกถึงอากาศเย็น ๆ และแสงแดดอุ่น ๆ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่มาพบกับเราเป็นประจำคือ ฝุ่น PM2.5 เนื่องจากในหน้าหนาวมีความกดอากาศสูง อุณหภูมิบนพื้นดินลดต่ำลง จึงทำให้ฝุ่นควันไม่สามารถเคลื่อนตัวสูงไปยังชั้นบรรยากาศได้
แต่ถูกกักล้อมไว้ ทำให้ความหนาแน่นของฝุ่นมีมากกว่าในช่วงเวลาอื่น โดยสาเหตุของ PM2.5 นั้นมีหลากหลาย ทั้งฝุ่นละอองบนท้องถนนจากการก่อสร้าง ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงมลพิษอื่น ๆ ในอากาศ
PM2.5 ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากมาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า PM2.5 เพิ่มอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยลดอายุเฉลี่ยของชาวยุโรปถึง 8.6 เดือน โดยผลกระทบต่อร่างกาย มีดังนี้
ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอด
เมื่อสูดดมฝุ่นจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ หรือที่รู้จักกันว่า “ภูมิแพ้” โดยอาจทำให้มีอาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก คันคอ ไอ คันตา ระคายเคืองตา ผื่นคันที่ผิวหนัง รวมถึงกระตุ้นอาการหอบหืดได้ นอกจากนี้ ขนาดที่เล็กมาก ๆ ของฝุ่นดังกล่าวนี้ สามารถเข้าไปลึกถึงปอด ซึ่งหากสะสมเป็นปริมาณมากอาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ ภาวะปอดอักเสบและมะเร็งปอดได้
ผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจและสมอง
การสะสมของฝุ่นดังกล่าวนี้ในกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงหลอดเลือดหัวใจและสมอง ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย เส้นเลือดสมองอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาตและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัว โดยส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่สูดดมฝุ่น PM2.5 เป็นปริมาณมาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการแท้ง และส่งผลทำให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อย ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ
เพื่อป้องกันตัวเองจากผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สามารถดูแลตัวเอง ดังนี้
-
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ฝุ่นหนา โดยควรตรวจเช็กสภาพอากาศ หรือ AQI อย่างสม่ำเสมอก่อนออกจากบ้าน ถ้าหากมีค่า AQI เกินกว่าค่าที่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หรือการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
-
ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นในช่วงที่มีค่า AQI สูงเกินค่าปลอดภัย
-
เมื่อต้องออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ เช่น หน้ากากอนามัยชนิด N95 เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย
-
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อชะล้างฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมที่อาจตกค้างในโพรงจมูก อันเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูก
-
เมื่อมีอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น อาการคันจมูก คันตา คันคอ จาม น้ำมูกไหล ระคายเคืองตา หรือผื่นที่ผิวหนัง สามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ รวมถึงสามารถอมยาอมเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองลำคอได้
-
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบหรือเป็นมากขึ้นได้
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง PM2.5 หรือเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Yu-Fei Xing, Yue-Hua Xu, Min-Hua Shi and Yi-Xin Lian, The impact of PM2.5 on the human respiratory system. Journal of Thoracic Diseases. 2016 Jan; 8(1): E69-74. Derived from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4740125/
- Fine Particles (PM 2.5) Questions and Answes. Department of Health. New York State. Derived from https://www.health.ny.gov/environmental/indoors/air/pmq_a.htm#:~:text=How%20can%20PM2.5%20affect,nose%20and%20shortness%20of%20breath.
- นพ. ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล. PM 2.5 วิกฤตทุกปีเมื่อเข้าหน้าหนาว. 2019 Sep. Derived from http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=248
- การป้องกันตนเองจากหมอกควันและฝุ่นละออก. กรมควบคุมโรค กสธ. 2019 Oct. Derived from http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=285&category=A52&issue=PM%202.5