“PM” (Particulate Matter) เป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยสารหลายชนิดทั้ง ละอองของเหลว ฝุ่น ก๊าซ เป็นต้น ส่วนเลขที่ตามหลัง มาจากขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง เช่น หากเล็กกว่าหรือเท่ากับ 10 ไมครอน ก็จะเรียกว่า “PM10” และที่เป็นปัญหาพูดถึงกันมากที่สุด ก็คงไม่พ้น “ PM2.5 ”
ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เจ้านี่มันเป็นตัวร้าย.. แต่มันร้ายขนาดไหน มีผลต่อสุขภาพยังไง วันนี้จะมาเล่าให้เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดขึ้น รวมถึงวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดอันตรายจาก “ PM2.5 ” ค่ะ
5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ PM2.5
1. PM2.5 มีขนาดเล็กเท่า “แบคทีเรีย”!!!
แบคทีเรียมีขนาดตั้งแต่ 0.5 – 10ไมครอน ส่วนPM2.5นั้น..มีขนาดเล็กกว่า 2.5ไมครอน (เล็กกว่าไข่เหาถึง200เท่า) จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าในภาวะปกติ ลองคิดตามเล่นๆดูค่ะ..ที่เราเห็นเป็นหมอกทึบสีเทาได้ขนาดนี้แปลว่าต้องรวมตัวแน่นขนาดไหน? สูดหายใจทีนึงเข้าปอดไปกี่โมเลกุล?
2. PM2.5 กับ กลุ่มโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือ ที่เรียกว่า “โรคแพ้อากาศ” เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายที่ผิดปกติจะหลั่งสาร IgE (Immunoglobulin-ชนิด E) มาทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูก
งานวิจัยที่ทำการทดลองในชาวเอเชียหลายฉบับพบว่า ฝุ่นPM ที่สูงขึ้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ..หนึ่งในงานวิจัยนั้นยังบ่งบอกอีกว่า ฝุ่นPM ส่งผลให้ร่างกายผลิตสาร IgE ที่ตอบสนองกับ สารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด!! (อันนี้หรือเปล่า ที่เป็นสาเหตุให้คนเป็นภูมิแพ้เยอะขึ้นทุกวัน)
ในงานวิจัยดังกล่าวใช้สัตว์ทดลองสูดดม Diesel Exhaust Particle (DEP) ซึ่งเป็นฝุ่น PM ที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล ร่วมกับสูดดมสิ่งก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น หญ้าRagweed, ไรฝุ่น เป็นต้น ผลปรากฏว่าสัตว์ทดลองกลุ่มที่สูดละออง DEP ร่วมกับสูดสิ่งก่อภูมิแพ้ข้างต้น จะเกิดสาร IgE ในร่างกายที่ตอบสนองการแพ้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ มากกว่ากลุ่มที่สูดแค่สิ่งก่อภูมิแพ้อย่างเดียว สรุปง่ายๆคือ ฝุ่น PM เพิ่มการเกิดอาการภูมิแพ้นั่นเอง
3. PM2.5 กับ กลุ่มโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
..ไม่ใช่แค่การสูดดม ..แต่แค่สัมผัสก็ทำร้ายกันแล้ว
PM2.5 สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง และทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อ Filaggrin ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยปกป้องผิวหนัง ผลที่ตามมา คือ การทำงานของเซลล์ผิวผิดปกติไป ทั้งในด้านการป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ไปจนถึงการซ่อมแซมผิว และยังเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ยังไม่หมดนะคะ ฝุ่นPM ยังสามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่าง ๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคายเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
4. อันตรายสะสมในระยะยาว และ “เด็ก” เสี่ยงผลกระทบมากกว่า “ผู้ใหญ่”
ความร้ายกาจของฝุ่นจิ๋วพวกนี้คือ มันจะอาศัยความจิ๋ว ชอนไชไปฝังตัวอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ผิวหนังเสื่อม ดูแก่เร็ว และไปฝังตัวในถุงลมปอด ทำให้เพิ่มโอกาสเกิด หอบหืด ถุงลมอุดกั้น การติดเชื้อแบคทีเรียในปอด ไปจนถึงมะเร็งปอด !!!
จากหลากหลายผลกระทบที่กล่าวมาแต่ต้น เด็กเป็นกลุ่มที่มีโอกาสรับความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ ด้วยปัจจัย 3 อย่าง คือ
1) ระบบภูมิคุ้มกันและทางเดินหายใจยังอ่อนแอ
2) เด็กมักจะใช้เวลานอกบ้านมากกว่าวัยอื่นๆ
3) อัตราการหายใจต่อน้ำหนักตัว (air breath per unit of body weight) สูงกว่าผู้ใหญ่
ดังนั้น ใครมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ หรือ ลูกหลานเล็กๆ ควรดูแลเป็นพิเศษกว่าคนอื่น
(5) เมื่อฝุ่นจิ๋วซอกแซกเก่ง จึงต้องปกป้องให้ครบทั้งภายนอกภายและในร่างกาย
อันดับแรกเปิด App เช็คอากาศว่าวันนี้ควรต้องป้องกันตัวมากแค่ไหน? ซึ่งตามปกติไม่ควรเกิน 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเลขที่อ้างอิงมาตรฐานจากกรมควบคุมมลพิษไทย (หรือถ้าใครอยากเซฟมากๆ ก็ใช้เกณฑ์องค์การอนามัยโลก ได้เลยค่ะ คือต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ตรวจสอบแล้ววันนี้ฝุ่นจิ๋วเกินมาตรฐาน ขอแนะนำตามนี้เลยนะคะ
-
ปกป้องร่างกายภายนอก – การใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด ชะล้างทำความสะอาดผิวหนังให้ดี รวมถึงการดูแลผิวให้ชุ่มชื้นเสมอด้วยการทาครีมหรือโลชั่นเพื่อทำให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรง และ สวมใส่“หน้ากากอนามัย”ให้ถูกวิธี คือ หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงช่วยการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก
(สำหรับคนทั่วไปใส่หน้ากากรุ่นนี้ก็พอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 2-3 ไมโครเมตรได้ โดยต้องสวมให้ถูกต้องกระชับกับรูปหน้า แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ขอแนะนำให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “N95” ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคขนาดจิ๋วได้ถึง 0.3 ไมครอน นะคะ)
-
ปกป้องร่างกายภายใน – ควรใช้ยารักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ ทั้งยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน ยาพ่นจมูก ยาสูดทางปาก ครีมรักษาภูมิแพ้ผิวหนัง
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Sompornrattanaphan, et al. “The contribution of particulate matter to respiratory allergy”. Asian Pac J Allergy Immunol 2020; 38: 19-28.
- รังสิมา วณิชภักดีเดชา. ภาควิชาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “PM 5 กับผลกระทบทางผิวหนัง”. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1368 (สืบค้นวันที่ 2 มค. 2565)
- นิธิพัฒน์ เจียรกุล. สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ 5”. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1360 (สืบค้นวันที่ 2 มค. 2565)