ปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน เป็นสิ่งที่พบได้เป็นประจำในช่วงหน้าหนาวจากความกดอากาศที่สูงขึ้น
ทำให้เกิดสภาวะอากาศปิด อากาศไหลเวียนไม่ดีจึงมีการกักเก็บฝุ่น ควันและมลภาวะต่าง ๆ ไว้ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองฝุ่นชนิดนี้ ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย ทั้งโรคในระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ รวมถึงโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดในสมอง
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากปัญหาสุขภาพดังกล่าว การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งจากภายในและภายนอกจึงมีความสำคัญมาก บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการดูแลสุขภาพจากฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพกันค่ะ
การป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภายใน คือการลดโอกาสในการเข้าสู่ร่างกายของฝุ่น ซึ่งมีหลากหลายวิธีได้แก่
1. เลือกอยู่ในสถานที่ในร่ม ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่น รวมถึงเลือกใช้เครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กได้
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดโอกาสการสูดดมฝุ่น
3. ใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ได้แก่ หน้ากากอนามัย N95 และหน้ากากอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เช่น KF94, KN95 เป็นต้น
4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เมื่อมีอาการระคายเคือง คันจมูก คัดแน่นจมูก รวมถึงเมื่อมีน้ำมูกในโพรงจมูก เนื่องจากสามารถชะล้างสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูกได้
5. เมื่อมีอาการระคายเคืองตา สามารถล้างตาด้วยน้ำเกลือรวมถึงหยอดตาด้วยน้ำตาเทียม เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ลดอาการตาแห้ง บรรเทาอาการระคายเคืองตาจากฝุ่นละออง
6. รีบทำความสะอาดร่างกายหลังกลับถึงบ้าน เพื่อชำระฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่ผิวหนัง นอกจากนั้นควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำเพื่อป้องกันผิวแห้ง อีกหนึ่งสาเหตุของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
7. ตรวจสอบคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ก่อนวางแผนทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง
8. เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น คันจมูก คัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล คันตา มีผื่นคันที่ผิวหนัง สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แนะนำยาเพื่อบรรเทาอาการ
9. ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจแน่นติดขัด ปวดหรือมึนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือตาพร่ามัว ให้รีบพบแพทย์ทันที
การป้องกันฝุ่น PM 2.5 จากภายนอก คือการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เสริมภูมิต้านทานเพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์จากฝุ่น ได้แก่
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5. หลีกเลี่ยงและรู้จักกับการจัดการความเครียด
6. รับประทานวิตามินและอาหารเสริมช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เช่น วิตามินดี วิตามินอี ธาตุสังกะสี โอเมก้า 3 และวิตามินซี ที่ลดสารต้านอนุมูลอิสระ อีกหนึ่งสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- ข้อมูลการใช้งาน application ALL PharmaSee เดือนกันยายน 2564
- แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ประเทศไทย พ.ศ. 2563
- AGG and CAG Clinical Guideline: Management of Dyspepsia, The American Journal of Gastroenterology, July 2017, Vol. 112, Issue 7
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง