โรคเริมที่ปาก หายดีแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม? ป้องกันยังไงดี?

รู้หรือไม่? ร้อยละ 80 – 90 ของประชากรไทย เคยได้รับเชื้อไวรัสโรค เริมที่ปาก แต่ไม่แสดงอาการโรค ซึ่งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ที่แม้จะรักษาหายแล้ว อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ และยิ่งไปกว่านั้น เริมเป็นโรคติดต่อที่มีวิธีการแพร่เชื้อค่อนข้างง่าย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้จักวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง 

 

บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส จะมาอธิบายถึงสาเหตุ อาการ การรักษา และวิธีป้องกันโรค เริมที่ปาก เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำได้ 

 

สาเหตุของโรคเริมที่ปากคืออะไร ทำไมหายแล้วถึงกลับมาเป็นซ้ำได้ ?

 

โรคเริมที่ปากคืออะไร ทำไมถึงหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้ ?

 

โรค เริมที่ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งมีสองประเภทหลัก คือ HSV-1 และ HSV-2 

 

การติดเชื้อเริมครั้งแรกมักเกิดจากการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งบุคคลนั้นอาจจะมอาการ หรือไม่ก็ได้ เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จะแสดงอาการโรคเริมครั้งแรกที่ผิวหนังบริเวณปาก หลังจากนั้น เชื้อจะเข้าไปสะสมอยู่ในปมเส้นประสาท และจะยังไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การเจ็บป่วย หรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ต่อมาเชื้อจะเคลื่อนจากปมเส้นประสาทไปยังปลายประสาท และทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุของร่างกาย

 

ทั้งนี้ การเกิดโรคเริมสามารถพบได้ในหลายตำแหน่งนอกเหนือจากริมฝีปาก เช่น บริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณผิวหนังอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย   

 

การติดเชื้อไวรัสเริม HSV เกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

การติดเชื้อไวรัส HSV (Herpes Simplex Virus) เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่จากผิวหนังที่ติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ในหลายวิธี เช่น 

 

  • การสัมผัสกับแผลเริม ไม่ว่าจะเป็นบริเวณปาก หรืออวัยวะเพศ 
  • การสัมผัสผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น บริเวณปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก 
  • การสัมผัสกับน้ำลาย น้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HSV จะปล่อยเชื้อจากบริเวณที่ติดเชื้อเท่านั้น เช่น หากมีเริมปาก เชื้อจะออกจากทางน้ำลาย หากมีเริมที่อวัยวะเพศ เชื้อจะออกจากบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น 

 

การแพร่เชื้อ HSV แบ่งออกได้หลายวิธี 

  • การสัมผัสอวัยวะเพศต่ออวัยวะเพศ เชื้อ HSV สามารถแพร่จากอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อไปสู่อวัยวะเพศของผู้อื่น ทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ 
  • การสัมผัสปากต่อปาก สามารถแพร่จากปากของผู้ติดเชื้อไปสู่ปากของผู้อื่น ทำให้เกิดโรคเริมที่ปาก 
  • การสัมผัสจากปากสู่อวัยวะเพศ สามารถแพร่จากปากของผู้ติดเชื้อไปสู่อวัยวะเพศของผู้อื่น ทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ 
  • การสัมผัสอวัยวะเพศสู่ปาก สามารถแพร่จากอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อไปยังปากของผู้อื่น ทำให้เกิดโรคเริมที่ปาก 
  • การสัมผัสแผลโดยตรง ถึงแม้ว่าจะพบได้น้อยกว่า แต่การสัมผัสแผลเริมโดยตรงจะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ 

 

อาการของโรค เริมที่ปาก

ในการติดเชื้อครั้งแรก โรคเริมที่ปากมักมีระยะฟักตัวประมาณ 3 7 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่หากมีอาการ มักจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อซ้ำ โดยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • กลุ่มของตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกแล้วจะกลายเป็นแผลตื้นบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปาก 
  • ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ หรือปวดแสบร้อนร่วมด้วย ตุ่มน้ำเหล่านี้จะค่อย ๆ แห้งและตกสะเก็ด ก่อนจะหายไปในระยะเวลา 2 – 6 สัปดาห์  
  • ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย 

 

เริมที่ปาก ร้อนใน และปากนกกระจอก มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

  • เริมที่ปาก อาการจะปรากฏเป็นตุ่มน้ำใสหลายตุ่มที่บริเวณขอบระหว่างริมฝีปาก และผิวหนัง รอบ ๆ ตุ่มเหล่านี้จะรู้สึกเจ็บ คัน หรือแสบ และเมื่อเวลาผ่านไป ตุ่มน้ำจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกออก 
  • ร้อนใน มักเกิดขึ้นภายในปาก เช่น แก้ม ลิ้น หรือด้านในริมฝีปาก ลักษณะของแผลจะมีขอบแดงและแผลสีขาวหรือเหลือง รูปทรงกลมหรือรี มักทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส 
  • ปากนกกระจอก เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นตรงมุมปาก อันเนื่องมาจากการติดเชื้อรา มักจะเกิดรอยแดง บวม และแห้งตึงบริเวณมุมปาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน 

 

ทั้งสามอาการนี้แม้จะเกิดบริเวณปากเหมือนกัน แต่มีลักษณะและสาเหตุที่ต่างกัน ควรได้รับการดูแลและรักษาตามอาการของแต่ละโรค

 

สำหรับโรคเริมที่ปากเมื่อเกิดซ้ำ อาการมักจะรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก ตุ่มน้ำที่เกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กลง และมีจำนวนน้อยกว่า มักมีอาการนำในบริเวณที่เกิดซ้ำ เช่น คัน แสบร้อนก่อนที่ตุ่มน้ำจะปรากฏขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ การเกิดซ้ำมักไม่มีอาการอื่น เช่น ไข้ หรือปวดเมื่อยร่วมด้วย 

 

ปัจจัยที่กระตุ้นการกลับมาเป็นเริมที่ปากซ้ำ

 

ปัจจัยที่กระตุ้นการกลับมาเป็นเริมที่ปากซ้ำ

 

โรคเริมที่ปากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อมีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง หรือทำให้เส้นประสาทบริเวณที่ไวรัสซ่อนตัวถูกกระตุ้น ปัจจัยที่พบบ่อย ได้แก่

  • ความเครียดทางจิตใจที่แสดงออกทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลให้ไวรัสเริมที่ซ่อนอยู่ในเส้นประสาทกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง 
  • การสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการป้องกันผิวอย่างเหมาะสม สามารถกระตุ้นให้เริมที่ปากกลับมาเกิดขึ้นได้ เนื่องจากรังสี UV ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ผิว และภูมิคุ้มกัน 
  • การบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณผิวหนัง เช่น รอยถลอก หรือขีดข่วน สามารถกระตุ้นให้เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทเดินทางออกมาที่ผิวหนัง และทำให้เกิดแผลเริมซ้ำได้ 
  • การเจ็บป่วยจากโรคอื่น เช่น ไข้หวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแรงอาจไม่สามารถควบคุมเชื้อไวรัส HSV ได้ ทำให้เกิดเริมซ้ำ 
  • การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเริมซ้ำ 
  • การผ่าตัดที่ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท หรือเนื้อเยื่อใกล้เคียงอาจทำให้เชื้อไวรัส HSV ที่ซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทกลับมาแสดงอาการได้ 

 

วิธีการรักษา เริมที่ปาก 

การรักษาโรคเริมที่ปากมีหลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการ และลดการแพร่เชื้อ โดยวิธีการรักษาที่แพทย์แนะน มีดังนี้

  • ใช้ครีม หรือยาทารักษาแผลเริมที่ปาก เช่น Docosanol (Abreva) เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรักษา ควรเริ่มใช้ทันทีที่มีอาการแรกเริ่ม และใช้สำลีหรือไม้พันสำลีในการทายาเพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย 
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบรรเทาอาการ ที่มีส่วนผสมช่วยให้แผลแห้งเร็ว เช่น แอลกอฮอล์เช็ดแผล สามารถใช้เพื่อลดความชื้น และเร่งการหายของแผลได้ 
  • การดูแลริมฝีปาก ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Zinc oxide หรือลิปบาล์มป้องกันแสงแดดเพื่อปกป้องริมฝีปากจากแสงแดด หากริมฝีปากแห้ง ควรใช้ครีมบำรุงเพื่อรักษาความชุ่มชื้น 
  • ประคบแผล ด้วยผ้าชุบน้ำเย็นสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวด และลดการตกสะเก็ดได้ หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเพื่อลดความเจ็บของตุ่มน้ำ  
  • ดูแลแผลในปาก สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก ควรรักษาความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ โดยการกลั้วปากด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อลดการติดเชื้อ และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น 
  • บรรเทาความเจ็บปวด หากมีไข้ หรือรู้สึกเจ็บแผลมาก สามารถใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือทาครีมที่มีส่วนผสมของ Lidocaine หรือ Benzocaine เพื่อลดอาการปวด 
  • ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัส 
  • การรับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือ วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเป็นโรค ลดการแพร่เชื้อ ยาต้านไวรัสนี้มีประสิทธิภาพในการลดการเกิดโรคซ้ำได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่แฝงตัวในปมประสาทได้ 

 

ข้อควรระวังในการใช้ยา เนื่องจากยาต้านไวรัสมีผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อการทำงานของไต ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตควรได้รับการปรับขนาดยาอย่างเหมาะสม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการของโรค

 

วิธีป้องกันโรคเริมที่ปากไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

 

วิธีป้องกันโรคเริมที่ปากไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ   

  1. การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

การดูแลสุขภาพโดยรวมมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเริมที่ปาก การนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีขึ้น
 

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเกิด เริมที่ปาก

ปัจจัยที่กระตุ้นโรคเริมให้กลับมาแสดงอาการ เช่น ความเครียด แสงแดด หรือการได้รับบาดเจ็บทางผิวหนัง ควรพยายามหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ควรสวมหมวก และทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันบริเวณริมฝีปาก
 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

เนื่องจากโรคเริมสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรอยแผลเริมของผู้อื่นในช่วงที่เกิดอาการกำเริบ รวมถึงไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า หรือช้อนส้อม จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้
 

  1. การใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน

สำหรับผู้ที่มีอาการโรคเริมที่ปากบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส ยาจะช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของการเกิดโรคเริม รวมถึงลดความถี่ในการเกิดอาการซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเริมที่ปาก

โรคเริมที่ปากติดต่อได้อย่างไร ? 

เริมที่ปากสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรง เช่น การจูบ ออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นภาชนะที่ต้องนำเข้าผ่านทางปาก หรือผ้าเช็ดหน้า 

 

หากเป็น เริมที่ปาก ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ? 

หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล ทายาครีมที่มีส่วนผสมของ Docosanol ทันทีที่มีอาการเริ่มต้น และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบรรเทาอาการ เช่น ครีมกันแดด หรือลิปบาล์มป้องกันแสงแดดเพื่อปกป้องริมฝีปากจากแสงแดด การพักผ่อนให้เพียงพอ และใช้ยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และเร่งการหายของแผลได้ 

 

โรคเริมที่ปากรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ? 

โรคเริมที่ปากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต การรักษาที่เหมาะสม การป้องกันที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยควบคุมอาการ ลดความถี่ในการกลับมาเป็นซ้ำได้ เช่น การดูแลสุขภาพโดยรวม และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น  

 

ระยะเวลาในการรักษา เริมที่ปาก นานเท่าไร ? 

โรคเริมที่ปากสามารถหายเองได้ในเวลา 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ การตอบสนองต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านไวรัสสามารถช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ 

 

สรุป

โรคเริมที่ปากเป็นการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) สามารถทำให้เกิดแผลที่ปาก และริมฝีปาก อาการที่เกิดขึ้นแบบเด่นชัด คือ ตุ่มน้ำใสบริเวณปากซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด และแสบร้อน โดยเฉพาะในครั้งแรกที่ติดเชื้อ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ หรืออ่อนเพลียร่วมด้วย 

  

การติดเชื้อไวรัสนี้มักเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อ ผ่านการสัมผัสแผลเริม น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ อาการของโรคเริมที่ปากสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในครั้งแรก และการติดเชื้อซ้ำ โดยครั้งแรกมักรุนแรงกว่า การกลับมาเป็นซ้ำจะมีอาการที่น้อยกว่า และมีปัจจัยกระตุ้นหลายประการ เช่น ความเครียด แสงแดด หรือการเจ็บป่วย 

  

การรักษาโรคเริมที่ปากมีหลายวิธี เช่น การใช้ครีมทาและผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการ การใช้ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการเป็นโรคและลดความเจ็บปวดให้น้อยลง แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่ฝังตัวอยู่ในระบบประสาทได้ 

  

เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ การดูแลสุขภาพโดยรวม เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดี การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ความเครียด และแสงแดด เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงการใช้ยาต้านไวรัสตามคำแนะนำของแพทย์สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคเริมที่ปากซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  

แม้โรคเริมที่ปากจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การปฏิบัติตามข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ พร้อมกับการป้องกันที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมอาการ และลดความถี่ในการกลับมาเป็นซ้ำได้ 

 

ที่มา  

เริม ติดได้ เพียงแค่สัมผัส ! จาก ramachannel 

“โรคเริม” โรคผิวหนังที่ป้องกันได้ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

Oral Herpes บทความจาก The Johns Hopkins University 

โรคเริม (Herpes simplex) จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

Herpes Simplex Virus (HSV) บทความจาก Clevelandclinic 

Cold sore จาก Mayo Clinic 

Valacyclovir Vs. Acyclovir For Shingles And Herpes Treatment บทความจาก HealthMatch 

 


อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ

All Pharma See

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้เอ็กซ์ต้าเห็นการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นๆ เอ็กซ์ต้ายังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้เอ็กซ์ต้าไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า ทั้งนี้หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก