ช่วงฝนตกหนัก อากาศชื้น เป็นสภาวะที่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รวมทั้งเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้หลายคนเสี่ยงเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)” ที่เกิดจากภาวะ ปอดติดเชื้อ อาจทำให้มีอาการไอ หายใจลำบากและรู้สึกเหนื่อยหอบ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ “รู้เท่าทันปอดติดเชื้อ พร้อมสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และการป้องกัน” มาฝากกัน เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพ และสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบได้มากขึ้น
ปอดติดเชื้อ คืออะไร?
ปอดติดเชื้อ (Lung Infection) เป็นภาวะที่เชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ติดเข้าไปในเนื้อปอด ส่งผลให้เกิดการอักเสบ และมีการบวมเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่ปอดจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ
นอกจากนี้ ภาวะปอดติดเชื้อยังเป็นอาการสำคัญของโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ที่จะทำให้ปอดทำงานได้แย่ลง ส่งผลให้มีอาการไอ หายใจลำบาก และเหนื่อยหอบเป็นหลัก บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ปอดบวมน้ำ มีเลือดคั่งในปอด และเกิดอาการช็อกจากการติดเชื้อ ฯลฯ
สาเหตุของ ปอดติดเชื้อ เกิดจากอะไร?
โดยส่วนใหญ่ เกิดจากถุงลมฝอยภายในปอดติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รวมทั้งเชื้อรา และมีส่วนน้อยที่เกิดจากสารเคมี ซึ่งสามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกาย และติดเชื้อในปอดได้หลายทาง เช่น
- การหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่หลายคนประสบมากที่สุด โดยสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเป็นละอองฝอยจากน้ำมูก และน้ำลายจากการไอจาม จากนั้นจะเดินทางผ่านช่องปาก คอหอย และลงไปยังปอดในที่สุด
- การสำลักสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษอาหาร แอลกอฮอล์ สารเคมี รวมทั้งแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากจนตกลงไปในปอด ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง และติดเชื้อตามลำดับ
- การแพร่กระจายเชื้อโรคตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา หรือการให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคเดินทางเข้าไปในปอดได้ง่ายขึ้น
- การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะใกล้ ๆ ปอด เช่น เป็นฝีในตับแตก จนเชื้อโรคเข้าสู่ปอด
- การแพร่เชื้อจากมือของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมาจากการไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ทำให้เชื้อแพร่จากคนสู่คน และมีโอกาสที่ปอดติดเชื้อได้
- การทำหัตถการบางประเภท เช่น การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การส่องกล้องตรวจหลอดลม และการใช้เครื่องมือช่วยหายใจที่มีเชื้อปนเปื้อน
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้มากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโทค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งจะทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลัน รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เช่น Staphylococcus aureus ที่พบในผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และ Klebsiella pneumoniae ที่พบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
นอกจากนี้ยังมีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) เชื้อรานิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jirovecii pneumonia) และเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปอดติดเชื้อ
- การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาจทำให้ขาดสารอาหารเข้าไปเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานในร่างกาย
- การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง ส่งผลให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง
- การอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีอาการถ่ายเท มีโอกาสที่จะหายใจเอาเชื้อโรค และมลภาวะที่แพร่กระจายตัวเฉพาะบริเวณนั้นเข้าไป และมีอาการป่วยในที่สุด
- การสูบบุหรี่ หรือสัมผัสกับควันไฟ ทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น
- การมีโรคประจำตัวบางประเภท เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด และโรคเอดส์ เป็นต้น การได้รับยารักษาโรคหลายชนิดในเวลาเดียวกัน อาจเพิ่มโอกาสให้ปอดติดเชื้อ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
อาการปอดติดเชื้อเป็นอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว จะมีระยะฟักตัวของเชื้อโรคในร่างกายสั้น ๆ ประมาณ 1 – 3 วัน หรือบางรายอาจอยู่ที่ 1 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะแสดงอาการปอดติดเชื้อออกมา ซึ่งจะมีลักษณะอาการที่สำคัญ ได้แก่
- มีอาการไอ ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาจะมีเสมหะขาว หรือมีสีเขียวเหลืองขุ่น ๆ
- หายใจหอบเหนื่อย มักจะรู้สึกหายใจเร็วแล้วหอบเหนื่อย หากเป็นหนักจะมีอาการปากเขียว ตาเขียว
- เจ็บหน้าอก เวลาหายใจ หรือไอแรง ๆ จะรู้สึกเจ็บแปลบตรงบริเวณที่ปอดติดเชื้อ
- เป็นไข้สูง มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีไข้ตลอดเวลา บางรายอาจรู้สึกหนาวสั่นก่อนมีไข้
- มีอาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และรู้สึกอ่อนเพลีย
สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคปอดอักเสบ นอกจากจะมีอาการปอดติดเชื้อแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดบวมน้ำ มีเลือดคั่งในปอด มีน้ำหรือมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาการช็อกจากการติดเชื้อ รวมทั้งการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไต เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุช่องท้อง ติดเชื้อตามไปด้วย ส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบอาการตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้หายป่วยได้เร็วขึ้น และยังลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการรักษาปอดติดเชื้อดังต่อไปนี้
วิธีรักษาปอดติดเชื้อ
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว จะได้รับการรักษาหลัก ๆ ทั้งหมด 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่
-
การใช้ยารักษาปอดติดเชื้อ (การรักษาจำเพาะ)
สำหรับกรณีที่ปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะในการรักษาอย่างเร็วที่สุดภายใน 4 – 6 ชั่วโมง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อในปอด แต่ถ้าหากมีอาการช็อกร่วมด้วย จะรักษาด้วยการใช้ยาชนิดเดียวกันภายใน 1 ชั่วโมง
ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากไวรัส จะใช้วิธีรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ พร้อมกับมีการบำบัดรักษาทางระบบหายใจอย่างเหมาะสมไปด้วยกัน
-
การรักษาแบบประคับประคองอาการ (การรักษาทั่วไป)
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ วันละ 8 – 10 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำจากการหายใจ เหนื่อยหอบ และมีไข้สูง
- ดูแลร่างกายให้ได้ออกซิเจนที่เพียงพอ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากจนตัวเขียว
- ทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โดยเริ่มจากการให้อาหารเหลว เมื่ออาการดีขึ้น ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน และอาหารธรรมดา ตามลำดับ
- ทำกายภาพทรวงอก เพื่อให้สามารถขับเสมหะออกจากปอด และหลอดลมได้ดีขึ้น
- ให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ เพื่อลดปริมาณเสมหะที่อาจคั่งค้างในปอด หรือหลอดลมจนหายใจลำบาก แต่จะไม่มีการใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยปอดติดเชื้อที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ให้ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวด หรือมีไข้สูง
การป้องกันไม่ให้เสี่ยงปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ
การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติเป็นภาวะปอดติดเชื้อมาก่อน รวมทั้งผู้ที่หายจากโรคปอดอักเสบแล้ว เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้มีสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว โดยมีวิธีดูแลสุขภาพ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด หรือมีอากาศไม่ถ่ายเท แต่ถ้าจำเป็นต้องไปจริง ๆ ให้สวมหน้ากากอนามัย
- งดการสูบบุหรี่ และไม่เข้าไปอยู่ใกล้ ๆ คนที่สูบบุหรี่ หรือควันไฟ เพื่อลดโอกาสที่ปอดติดเชื้อ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน และระบบหายใจให้แข็งแรง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิต้านทานทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ระมัดระวังเรื่องการสำลักเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ไม่พูดคุยระหว่างทานอาหาร หรือเคี้ยวอาหารช้า ๆ ฯลฯ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ทุก ๆ 5 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะปอดติดเชื้อ
ปอดติดเชื้อ กี่วันหาย?
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก จะหายป่วยจากภาวะปอดติดเชื้อภายใน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ มีผู้ป่วยบางคนอาจใช้ระยะเวลาในการรักษา และฟื้นตัวเองนานเป็นเดือน
ปอดติดเชื้อ อันตรายไหม?
การติดเชื้อที่ปอดถือเป็นภาวะที่อันตราย หากมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น จึงต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากมีอาการเบื้องต้นที่มีแนวโน้มว่าปอดติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงขึ้นได้
มีโอกาสที่ปอดติดเชื้อจากการใส่ท่อช่วยหายใจได้ไหม?
การใส่ท่อช่วยหายใจมีความเสี่ยงที่ปอดติดเชื้อได้ เมื่อใส่ท่อช่วยหายใจนานเกิน 48 ชั่วโมง โดยสาเหตุมาจากการสำลักเชื้อโรคจากปาก ผ่านหลอดลม และเข้าสู่ปอด การใช้ท่อช่วยหายใจที่ไม่สะอาด และมีเชื้อโรคปนเปื้อน
สรุป
ปอดติดเชื้อเป็นอาการสำคัญของโรคปอดอักเสบที่สามารถเป็นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราที่เนื้อปอด จนมีอาการไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย และมีไข้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นร่วมด้วย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหนัก ดังนั้น เมื่อมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุดตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมกับป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวได้ไม่น้อย
ที่มา
Pneumonia Recovery จาก National Institutes of Health
การป้องกันการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยแผลไหม้ จาก วารสารแผลไหม้และสมานแผลแห่งประเทศไทย
คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุโรคปอดอักเสบ จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปอดอักเสบในเด็ก สังเกตอย่างไร? จาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
โรคปอดบวม, ปอดอักเสบ (Pneumonia) จาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง