ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนึ่งในกลุ่มยาที่มีความสำคัญในการรักษา และบรรเทาอาการเจ็บปวดแบบฉับพลัน หรือเรื้อรังจากสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย การทำงานหนัก หรือแม้กระทั่งอาการเจ็บปวดจากโรค ฯลฯ
ซึ่งในปัจจุบันยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายเหล่านี้ มักมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อความสะดวกและความเหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยา, ครีมทาแก้ปวดเมื่อย, เจล, สเปรย์ และแผ่นแปะ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการเจ็บปวดบางอย่าง หากใช้ตัวยาในการรักษาอย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลทำให้อาการปวดหายช้าได้
ด้วยความห่วงใยจาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส บทความนี้ จึงได้รวบรวมข้อมูลสุขภาพดี ๆ เกี่ยวกับ ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ใช้อย่างไรให้ตรงอาการ มาฝากกัน
ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย คืออะไร
เป็นกลุ่มยาที่ใช้บรรเทาอาการปวด แก้เมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก จากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งจะแตกต่างจากยาฆ่าเชื้อ โดยปัจจุบัน ตัวยาในการรักษาแก้อาการปวดเมื่อย จะมีให้เลือกใช้หลากหลายประเภท โดยแบ่งออกตามกลไกการออกฤทธิ์ และความรุนแรงของอาการปวดที่สามารถรักษาได้ เช่น
- อาการเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บหรือการอักเสบ เช่น อาการปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดแขน ปวดขา ปวดฟัน หรือหลังจากการผ่าตัด
- อาการเจ็บปวดแบบเรื้อรัง อาการปวดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือเป็นประจำ โดยมักเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบ หรือ โรคมะเร็ง เป็นต้น
ซึ่งอาการทั้ง 2 ประเภทนี้ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่น่าเชื่อถือก่อนใช้ยา โดยเฉพาะในกรณีที่มีโรคประจำตัวเพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่ตรงจุด
4 รูปแบบของ “ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย” มีอะไรบ้าง ?
ปัจจุบันยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. ยาเม็ด หรือ แคปซูล ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยมีทั้งแบบยาในกลุ่มของพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งเหมาะสำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง และยากลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้ดีขึ้น
การใช้งาน: เหมาะสำหรับอาการปวดทั่วไป เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และลดไข้
2. เจลหรือครีมทา มีส่วนผสมของเมนทอล หรือ NSAIDs ที่ช่วยระงับความรู้สึก แก้ปวดเมื่อย หรือลดปวดจากการอักเสบระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งถือเป็นยาทาแก้เคล็ดขัดยอกที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้
การใช้งาน: เหมาะสำหรับการใช้ทาเฉพาะจุดบริเวณกล้ามเนื้อ โดยให้ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดี
3. สเปรย์ รูปแบบขวดพ่นลงบนผิวหนังได้โดยตรง ช่วยลดอาการปวดและบวมอักเสบเฉพาะจุดของกล้ามเนื้อ
การใช้งาน: สามารถฉีดลงบนบริเวณที่เจ็บได้ทันที ทำให้รู้สึกเย็นสบายและช่วยบรรเทาอาการปวด มีทั้งสูตรร้อน และ สูตรเย็น
4. แผ่นแปะ มีส่วนผสมของสารต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง โดยปล่อยสารออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายอย่างช้า ๆ
การใช้งาน: ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง โดยสามารถติดแผ่นแปะในบริเวณที่มีอาการได้อย่างสะดวก
โดยรูปแบบของยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายทั้ง 4 ประเภทนี้ มักมี 3 ตัวยาสำคัญ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบเฉียบพลัน เรื้อรัง ตั้งแต่ระดับขั้นเล็กน้อย ไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งสามารถนำไปใช้กับอาการเจ็บปวดจากปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ได้ดังนี้
3 ตัวยา “แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย” ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง
1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีส่วนช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นร่วมกับไข้ได้ ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ เหมาะสำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ การรับประทานยากลุ่มนี้ หากใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดพิษร้ายแรงต่อตับได้
ปริมาณที่แนะนำยาพาราเซตามอล
- ผู้ใหญ่ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรกินต่อเนื่องเกิน 5 วัน
ซึ่งสำหรับเด็ก ที่มีน้ำหนักน้อย รวมถึงผู้ป่วยโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยา
2. ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs)
เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ซึ่งมีฤทธิ์ทั้งลดอาการปวดและลดการอักเสบ เหมาะสำหรับอาการปวดที่มีการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดฟัน ปวดประจำเดือนหรือเจ็บปวดจากการบาดเจ็บ เป็นต้น
ข้อแนะนำการใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์
- ขนาดและวิธีการใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดของยา และอายุของผู้ป่วย ดังนั้น ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากหรือปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
3. ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)
เป็นยาแก้เจ็บปวดชนิดรุนแรง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรงทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดหลังการผ่าตัดจากโรคมะเร็ง อาการท้องเสีย หรือไออย่างรุนแรง ฯลฯ ซึ่งยาบางชนิดในกลุ่มนี้ จะมีในกลุ่มของยาเสพติดให้โทษ เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) เฟนทานิล (Fentanyl) มอร์ฟีน (Morphine) เป็นต้น
ข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์
- การใช้ยาในกลุ่มนี้จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อการติดยาในระยะยาวได้
คำแนะนำการใช้ ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย อย่างถูกต้อง
- ควรกินในระยะสั้นเท่าที่จำเป็น หากอาการดีขึ้นควรหยุดรับประทานทันที เพื่อป้องกันการได้รับยาเกินขนาด
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยาอื่นอยู่ เช่น โรคตับ โรคไต ซึ่งหากผู้ป่วยมีความกังวลใจ หรือไม่มั่นใจในเรื่องของอาการที่เป็นอยู่ สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรที่น่าเชื่อถือใกล้บ้าน หรือแอปพลิเคชัน ALL PharmaSee ตัวช่วยที่พร้อมให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพกับคุณตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าใช้จ่าย
- อ่านฉลากและคำแนะนำอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง ควรอ่านข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้และข้อควรระวังอย่างละเอียด
- ไม่ควรใช้ยานานเกินไป หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุของอาการ
- ห้ามกินยาร่วมกับการสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นและเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะตับล้มเหลว
หมายเหตุ: ยาแก้ปวดใช้สำหรับรักษาหรือบรรเทาอาการปวดเท่านั้น ไม่ได้ใช้สำหรับเพื่อป้องกัน ดังนั้น ไม่แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด ก่อนมีอาการเพราะอาจทำให้ใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ
การใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาอาการ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ข้อ กล้ามเนื้อ ฟัน และประจำเดือน สามารถใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วม “โครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ” ได้ ซึ่งจะมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา และจ่ายยาที่จำเป็น เช่น ยาพาราเซตามอล หรือ ยากลุ่มอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิบัตรทองสำหรับรักษาอาการคันที่ร้านยา สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาใกล้บ้านได้ผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) [เช็กรายชื่อร้านยาได้ที่นี่] โดยร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้เข้าร่วมโครงการสิทธิบัตรทอง พร้อมให้บริการ Delivery จัดส่งยาและสินค้าสุขภาพถึงบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน ALL PharmaSee
ใช้บริการ Delivery คลิกเลย!
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
Q: มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ควรกินยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายอะไร ?
A: แนะนำเป็นยาในกลุ่มของ พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน เนื่องจากตัวยากลุ่มนี้สามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และลดไข้ เป็นต้น อีกทั้ง จัดเป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี
Q: ยาพาราแก้ปวดเมื่อยได้ไหม ?
A: สามารถช่วยได้ โดยยากลุ่มพาราเซตามอล มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดเล็กน้อย จนถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และปวดจากข้อเสื่อม เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดในระดับเรื้อรัง หรือ รุนแรงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด
Q: ยาแก้ปวดชนิดใด ปลอดภัยที่สุดสําหรับ ผู้ป่วยโรคไต ?
A: ยาประเภทกลุ่ม NSAIDs หากทานเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคไต หรือในผู้สูงอายุ อาจทําให้ไตเสียหายได้ ซึ่งปัจจุบันแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานในกลุ่มยาของพาราเซตามอล เนื่องจากมีความปลอดภัยมากกว่า
สรุป
การเลือกใช้ ยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้ตรงกับอาการนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจประเภทของยา วิธีการใช้ และข้อควรระวังจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการกับอาการได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
ที่มา
ยาแก้ปวด กินอย่างไรให้ปลอดภัย จากรามา แชนแนล
ยาพาราเซตามอล รักษาอาการปวดได้ทุกอย่างจริงหรือ ? จาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
Painkillers จาก Patient
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง