เวียนหัว บ้านหมุน อาการที่ทำให้มีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อม หรือ ร่างกายเคลื่อนที่ทั้งที่ไม่ได้เคลื่อนที่จริง อาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน และสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวทำให้เกิดอาการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ เช่น การทำงาน ออกกำลังกาย ไปจนถึงการขับขี่ยานพาหนะ
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ เวียนหัว บ้านหมุน อันตรายกว่าที่คิด ทำอย่างไรไม่ให้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน มาแชร์กัน
อาการ เวียนหัว คืออะไร ?
อาการเวียนหัว หมายถึง อาการมึนศีรษะ วิงเวียน งง รู้สึกโคลงเคลง ทรงตัวไม่อยู่ หรืออาจมีความรู้สึกลอย ๆ หวิว ๆ มีอาการตื้อในหัว ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งอาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- อาการมึนเวียนหัว (Dizziness) คือ อาการมึนหัวรวมไปถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
- อาการ เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo) คือ อาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน หรือ โคลงเคลงเท่านั้น
เวียนหัว บ้านหมุน มีอาการอย่างไร
อาการเวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo) เป็นอาการที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือ สิ่งของที่มองเห็นหมุนไปโดยที่ตัวเองอยู่กับที่ โดยอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนนี้อาจส่งผลต่อการทรงตัว และทำให้ผู้ที่มีอาการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนหัวแบบรู้สึกหมุน ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือ มีเสียงในหูร่วมด้วย
สาเหตุของอาการ เวียนหัว บ้านหมุน
อาการ เวียนหัว บ้านหมุนเกิดจากสาเหตุที่มีลักษณะต่างกัน ที่พบได้บ่อย คือ ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดผิดที่ ผู้ป่วยมักมีอาการในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ตอนก้ม ๆ เงย ๆ มักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และอาการจะค่อย ๆ หายไป โดยมีสาเหตุของการเกิดอาการ ดังนี้
1. โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือ โรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Benign Paroxysmal Positioning Vertigo: BPPV)
เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการ เวียนหัว บ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นในพบมากในผู้สูงอายุ โดยอาการเฉพาะของโรคนี้ เกิดขึ้นทันทีในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น โดยอาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยิน หรือ เสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคหูอยู่ก่อนแล้ว) รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง โดยโรคนี้จะพบตะกอนแคลเซียมสะสมอยู่ในบริเวณอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหว จึงเกิดการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนแคลเซียม ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้ก็ต่อเมื่อน้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหว ทำให้มีผลไปกระตุ้นอวัยวะการทรงตัว
2. โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)
เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ เวียนหัว แบบรู้สึกหมุน อย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซ หรือ ล้มได้ง่าย อาการเวียนหัวที่เกิดจากโรคนี้อาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีการได้ยินลดลง และมีเสียงดังในหู บางครั้งอาจพบอาการหูอื้อ ได้ โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน
3. โรคอื่น ๆ เช่น
- การอักเสบของหูชั้นใน (Labyrinthitis) พบจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนหัวรุนแรง แต่ผู้ป่วยมักมีการได้ยินที่ปกติ อาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหูน้ำหนวก แล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการมักรุนแรงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย
- โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัว หรือ เส้นประสาทการได้ยิน (Acoustic Neuroma) ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับการได้ยินลดลง บางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู สำหรับรายที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่และไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น อัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่น ๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดทับเนื้อสมอง
- โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular Neuronitis) มักจะพบอาการเวียนศีรษะตามหลัง อาการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัดอยู่นานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ เมื่อไวรัสลุกลามเข้าในหูและเส้นประสาทการได้ยินจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรงนานหลายวันจนถึงสัปดาห์ แต่ไม่ส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ป่วยยังคงได้ยินเป็นปกติ
- กระดูกกะโหลกแตกหัก (Temporal Bone Fracture) เป็นการแตกร้าวของกะโหลก (Cranial Bone) สามารถแบ่งได้หลายประเภท แต่มักเกิดจากสาเหตุร้ายแรงเพียงอย่างเดียวคือ การถูกอัดหรือถูกกระแทกที่ศีรษะอย่างรุนแรงจนทำให้กระดูกส่วนศีรษะแตก ซึ่งการแตกร้าวอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สมองร่วมด้วย
- เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (Vertebra-Basilar Insufficiency) โดยจะมีอาการหน้ามืด มึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และหากปล่อยไว้นาน ๆ อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของร่างกายอาจเสื่อม และเสียหายในที่สุด
อันตรายของอาการ เวียนหัว บ้านหมุน
อาการ เวียนหัว บ้านหมุน จะมีความอันตรายโดยขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากมีสาเหตุมาจากเนื้องอก หรือ เส้นเลือดผิดปกติอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือ หากมีสาเหตุอื่น เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หินปูนในหูชั้นในหลุด สามารถรักษาได้ และไม่เป็นอันตราย ทั้งนี้หากมีอาการควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างเหมาะสมตามแนวทางการดูแลรักษาของแพทย์ต่อไป
อาการเวียนหัว บ้านหมุน แบบไหนต้องไปพบแพทย์
อาการ |
รับประทานยา |
ต้องไปพบแพทย์ |
เวียนศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ | ✔ | |
เสียความสมดุล หรือ ถูกดึงจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง | ✔ | |
มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน | ✔ | |
รู้สึกหมุน | ✔ | |
ปวดศีรษะรุนแรงทันที | ✔ | |
มีอาการเจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก | ✔ | |
มีอาการชา อ่อนแรง หน้าเบี้ยว | ✔ | |
มีอาการสับสน พูดไม่ชัด | ✔ | |
มีไข้ หรือ มีอาการชัก | ✔ | |
มีอาการหน้ามืด หมดสติ | ✔ | |
รู้สึกเอนเอียง แกว่ง | ✔ |
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน
- ให้ผู้ป่วยนอนบนพื้นราบ ระวังล้ม และพยายามให้ผู้ป่วยมองจุดใดจุดหนึ่งนิ่ง ๆ
- หากมีอาการร่วมกับ เวียนหัว บ้านหมุน เช่น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เสียงแหบ แขนขาอ่อนแรง ชา ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
- ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นใน เช่น โรคน้ำหูไม่เท่ากัน โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน แนะนำให้รับประทานยาประจำตัวก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์
การรักษาอาการ เวียนหัว บ้านหมุน
แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุน ซึ่งแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น กายภาพบำบัด ถ้าเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ถ้าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง กินยาบรรเทาอาการตามโรคที่เป็น เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ผ่าตัดตามข้อบ่งชี้ของโรค เป็นต้น โดยการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดีกว่าในระยะหลัง ดังนั้น หากมีอาการเวียนศีรษะผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ และเข้ารับการรักษาโดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทั้งการตรวจหู ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ตรวจดูการ กลอกของลูกตา และการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของการทำงานในหูชั้นในอาจได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจการได้ยิน (Audiogram)
- ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Videoelectronystagmography: VNG)
- ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (Electrocochleography: ECOG)
- ตรวจการทรงตัว (Posturography)
- ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน (Evoke Response Audiometry)
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการ เวียนหัว บ้านหมุน
1. ปรับพฤติกรรมประจำวัน เช่น ค่อย ๆ เปลี่ยนท่าทางโดยเฉพาะเวลาลุกนั่ง หรือ ยืนควรหันศีรษะอย่างช้า ๆ
2. ดื่มน้ำ ให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว หากต้องเดินทาง หรือ มีกิจกรรม ให้ดื่มน้ำเพิ่ม ก่อนทำกิจกรรมทุกครั้ง
3. หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก ฝึกให้หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
4. พักผ่อนให้เพียงพอ ถูกสุขลักษณะ
5. หากิจกรรมทำเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ
6. ลดความเครียด ความกังวล มองโลกในแง่ดี
7. ควบคุมโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมัน ความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
8. หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว และมีผลทำให้ความดันต่ำ
สรุป
อาการ เวียนหัว บ้านหมุน เกิดจากระบบการควบคุมการทรงตัวที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถเป็นได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถดูแลตัวเอง และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยการกระตุ้น เพื่อไม่ให้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการไม่ว่าจะเป็นการหมุนหันศีรษะเร็ว ๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้มเงยคอไปจนถึงควรลดปริมาณการดื่มสุรา หรือ งดการสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะยังมีอาการ การปีนป่ายที่สูง เป็นต้น
อาการเวียนหัว ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา:
บ้านหมุน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บ้านหมุนเกิดจากอะไร ? จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บทความอาการบ้านหมุน จาก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ เรื่องที่ควรระวัง จาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
อาการบ้านหมุน ภัยที่ไม่ควรมองข้าม จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รู้จักอาการเวียนศีรษะและการป้องกัน จาก ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury) จาก ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
5 วิธีการป้องกันและฟื้นฟูอาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จาก โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ