อาการ ไอตอนกลางคืน นั้น ถึงแม้จะเป็นอาการทั่วไป แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้ไม่น้อย และเมื่อเป็นหนักมากอาจส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ ไอตอนกลางคืน ต้องแก้ยังไง ไม่ให้กวนใจจนนอนไม่หลับมาแชร์กัน
อาการไอ คือ
การทำงานของกลไกป้องกันร่างกาย ด้วยการตอบสนองเมื่อมีสิ่งระคายเคืองบริเวณคอหรือทางเดินหายใจ ส่วนบนและล่าง ซึ่งสิ่งนี้จะเข้าไปกระตุ้น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ที่ทำหน้าที่ส่งข้อความไปยังสมองบริเวณเมดุลลา (Medulla) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการไอ (Cough Center) สั่งให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก และช่องท้อง ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ขับลมออกจากปอดเพื่อนำสารแปลกปลอมที่ระคายเคืองออกมา ส่งผลให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ออกมาเป็นอาการไอ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- อาการไอเฉียบพลัน มีระยะเวลาไอไม่เกิน 3 สัปดาห์ มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม รวมไปถึงการสูดเอาสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อมเข้าไปในร่างกาย เช่น ควันจากการเผาไหม้
- อาการไอเรื้อรัง มีระยะเวลาไอเกินกว่า 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 8 สัปดาห์ มักเกิดจาก หลอดลมอักเสบเรื้อรัง การรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ โรคเนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ หรือเกิดความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น
ทำไมถึงมีอาการ ไอตอนกลางคืน
สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ
- แรงโน้มถ่วง: แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันโรคติดเชื้อจอร์เจีย ประจำ แอตแลนตา Mitchell Blass, MD กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีอาการไอตอนกลางคืนนั้น เนื่องจากเมื่อเรานอนราบ น้ำมูก หรือเสมหะจะไหลมารวมกันสะสมบริเวณหลังคอตามแรงโน้มถ่วงโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดการระคายเคือง รวมไปถึงการนอนหงายส่งผลให้กรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมาและเข้าสู่ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอได้
- สภาพแวดล้อมในการนอน: การนอนในห้องแอร์ที่มีอากาศแห้ง ทำให้เพิ่มการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ ส่งผลให้อาการไอแย่ลง รวมไปถึงการมีเชื้อรา ฝุ่น สัตว์เลี้ยง หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ก็ส่งผลต่ออาการไอเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ไอตอนกลางคืน
แบ่งออกตามโรค การติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
1. การติดเชื้อไวรัส (Viral Infections)
อาการไอแห้งส่วนใหญ่ มักเป็นผลจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โดยมีการระคายเคืองในช่วงทางเดินหายใจส่วนบน อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นกว่าที่จะหายเป็นปกติ และเนื่องจากระบบทางเดินหายใจมีความบอบบาง ไวต่อการระคายเคืองเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงกลางคืนที่มีอากาศแห้ง ส่งผลให้อาการไอหนักขึ้นได้
2. โรคหอบหืด (Asthma)
ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอักเสบ บวม และตีบ ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง ซึ่งอาการไอในโรคหอบหืดนั้นสามารถเป็นได้ทั้ง การไอแบบมีเสมหะ (Productive Cough) หรือ แบบไอแห้ง ไม่มีเสมหะก็ได้ (Non-Productive Cough) โดยมักจะมีอาการหนักขึ้นในช่วงกลางคืนจนถึงรุ่งสาง
3. โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)
เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยที่กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมา บริเวณหลอดอาหาร กล่องเสียง หรือหลอดลม ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นการไอได้เมื่อนอนราบลง
4. น้ำมูกไหลลงคอ (Postnasal Drip)
เกิดจากการที่ต่อมผลิตมูกออกมาบริเวณจมูกหรือไซนัสในปริมาณมาก เมื่อเจอเข้ากับสิ่งแปลกปลอม หรือการระคายเคือง ทำให้น้ำมูกบางส่วนไหลลงเข้าไปส่วนหลังคอ โดยเฉพาะเมื่อนอนในลักษณะราบยิ่งกระตุ้นให้ไหลเร็วขึ้น ทำให้รู้สึกคันที่คอ และเกิดอาการไอได้
นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่พบได้น้อย หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง แต่อาจส่งผลให้เกิดอาการ ไอตอนกลางคืน ได้ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เส้นเลือดปอดอุดตัน (Pulmonary Embolism) ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด โรคไอกรน (Whooping cough) วัณโรค หรือ มะเร็งปอด เป็นต้น
ไอตอนกลางคืน แก้ไขได้อย่างไร
1. ใช้ยาบรรเทาอาการ ไอตอนกลางคืน ที่มีส่วนผสมของเมนทอล
เช่น ยาอม หรือสเปรย์พ่น ที่มีส่วนผสมของ เปปเปอร์มินต์ หรือยูคาลิปตัส เนื่องจากเมทอล มีฤทธิ์เย็น และไอของมันจะทำให้มูกหรือเมือกหดตัว ผลิตน้อยลง หรือหยุดชั่วคราว ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาขณะนอนราบ เพราะอาจทำให้สำลักได้
2. ติดตั้งเครื่องทำความชื้น (Humidifier)
จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศไม่ให้แห้งจนเกินไป ส่งผลให้คอชุ่มชื้น ป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง หรืออาการไอตอนกลางคืนได้
3. การจัดท่านอนให้ถูกต้อง
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ในข้อแรงโน้มถ่วง เมื่อนอนราบอาจจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดอาการ ไอตอนกลางคืน ขึ้น ดังนั้นควรจัดท่านอนให้เหมาะสมโดยที่หนุนหมอนปรับท่านอนให้อยู่ในลักษณะ 45 องศา (กึ่งนั่งกึ่งนอน) จะช่วยลดการไหลลงของมูกไปสู่บริเวณหลังคอ หรือการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร
4. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง
เช่น ฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ละอองเกสร หรือควันจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ควรทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นประจำ รวมไปถึงเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม เพื่อป้องกันการเกิดไร ฝุ่น
5. น้ำผึ้ง
มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ และต้านการอักเสบ โดยสามารถเติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ลงในน้ำชาหรือน้ำอุ่น หรือทานโดยตรงไม่ต้องผสม เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
6. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
เป็นการบรรเทาอาการอักเสบที่คอ โดยที่เกลือจะเข้าไปทำหน้าที่ดึงน้ำออกจากเนื้อเยื่อในช่องปาก สร้างเป็นเกราะป้องกันน้ำ ไม่ให้เชื้อแบคทีเรียไหลกลับไปที่คอ โดยสามารถทำการกลั้วคอและปากเป็นเวลาประมาณ 30 วินาที แล้วบ้วนทิ้ง
7. ดื่มน้ำให้มาก ๆ
การจิบน้ำระหว่างวันเป็นประจำ จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ลำคอ ป้องกันการระคายเคืองได้
วิธีการรักษาอาการ ไอตอนกลางคืน จากการจ่ายยาโดยผู้เชี่ยวชาญ
1. รักษาโดยยาแก้คัดจมูก (Decongestants)
ยาบรรเทาอาการคัดจมูกนั้น มีหลักการทำงานโดยจะบีบรัดหลอดเลือด เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนที่บวมลง ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อที่บวมหดตัว และส่งผลให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
2. รักษาโดยยาระงับอาการไอและยาขับเสมหะ
- ยาบรรเทา หรือระงับอาการไอ (Cough Suppressants or Antitussives) ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอแห้ง หรือไม่มีเสมหะ (Non-Productive Cough)
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) ช่วยกระตุ้นการกำจัดเสมหะ เพิ่มปริมาณการผลิตสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้สามารถเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น
- ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ช่วยลดความเหนียวของเสมหะลง ส่งให้นำออกมาง่ายขึ้น มักใช้ร่วมกันกับ ยาขับเสมหะ
อาการร่วม ไอตอนกลางคืน ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
ถึงแม้อาการ ไอตอนกลางคืน จะสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วยอาจเสี่ยงให้เกิดอันตรายได้ โดยมีลักษณะอาการดังนี้
- หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก
- มีไข้ หรือไข้สูง ต่อเนื่องยาวนาน หลังจากเริ่มไอหลายวัน
- เสมหะกลายเป็นสีเหลืองอมเขียว สีสนิม หรือมีเลือดปน
- หัวใจเต้นเร็ว
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- น้ำหนักขึ้น หรือข้อเท้า และขาบวม (บวมน้ำ)
- มีอาการไอแห้งซ้ำ ๆ หรือกินระยะเวลานานกว่า 3 สัปดาห์
สรุป ไอตอนกลางคืน ต้องแก้ยังไง ไม่ให้กวนใจจนนอนไม่หลับ
อาการ ไอตอนกลางคืนนั้น มีสาเหตุมาจากโรค หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ที่มีไรฝุ่น หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งจะเป็นหนักขึ้นในช่วงตอนกลางคืนที่มีอากาศแห้ง สามารถบรรเทาได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้เมื่อมีอาการหนักหรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
ทั้งนี้ อาการไอ ถือเป็นหนึ่งใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่สามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา
อาการไอ (Cough) ตอนที่ 1 จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อาการไอ (Cough) ตอนที่ 2 จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
Symptoms Cough จาก Mayo Clinic
Why Your Cough Symptoms Get Worse at Night จาก Everyday Health
How to Stop a Dry Cough at Night จาก Very Well Health
What’s Causing My ‘Unproductive’ Dry Cough at Night and How Can I Treat It? จาก Healthline
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ