เปลือกตาอักเสบ อาจทำให้ระคายเคืองและรำคาญใจ ซึ่งปกติแล้วจะไม่สร้างความเสียหายถาวรต่อสายตาและไม่ใช่โรคติดต่อ โดยเปลือกตาอักเสบที่เป็นภาวะเรื้อรังนั้นอาจทำการรักษาได้ยาก จึงควรได้รับคำแนะนำในการป้องกันและบรรเทาอาการอย่างถูกต้อง
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ เปลือกตาอักเสบ บวม คัน ดูแลอย่างไรไม่ให้เป็นหนัก มาแชร์กัน
เปลือกตาอักเสบ คืออะไร
เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คือ การอักเสบของขอบของเปลือกตา มีลักษณะบวม เป็นสีแดงหรือสีเข้ม มักส่งผลต่อดวงตาทั้งสองข้าง โดยเกิดขึ้นเมื่อต่อมน้ำมันเล็ก ๆ ใกล้โคนขนตาอุดตัน ทำให้เกิดการระคายเคือง และตาแดง รวมไปถึงโรคและปัจจัยต่าง ๆ อีกด้วย
อาการของ เปลือกตาอักเสบ
-
- การอักเสบของเปลือกตา มักสังเกตเห็นได้ชัดเจนโดยมีอาการดังต่อไปนี้
- คันบริเวณเปลือกตา
- เปลือกตาบวม
- เปลือกตาแดง
- รู้สึกแสบร้อนในดวงตา
- เปลือกตามัน
- ความรู้สึกว่ามีบางอย่างอยู่ในดวงตา
- มีอาการตาแดง
- น้ำตาไหล
- รู้สึกดวงตาไวต่อแสง
- ตาพร่ามัว แต่จะดีขึ้นเมื่อกระพริบตา
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เปลือกตาอักเสบ
อาการเปลือกตาอักเสบสามารถเกิดได้หลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา อาการแพ้ และสภาวะความผิดปกติของผิวหนัง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่มีการระบุชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง โดยแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่
1. สาเหตุที่เป็นไปได้ของ เปลือกตาอักเสบ
- ต่อมน้ำมันอุดตัน หรือการทำงานผิดปกติในเปลือกตา ที่มีน้ำมันมากเกินไปจึงก่อให้เกิดการอักเสบ
- อาการแพ้ รวมถึงอาการแพ้ต่อยารักษาดวงตา คอนแทคเลนส์ หรือเครื่องสำอางสำหรับดวงตา เช่น อายแชโดว์ อายไลนเนอร์ เป็นต้น
- ตัวไรขนตา สิ่งมีชีวิตประเภทเชื้อปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวหน้าที่พบมากบริเวณขนตา ตัวไรจะกินน้ำมันเป็นอาหาร และสร้างเซลล์เป็นปลอกสีขาว ๆ คล้ายขี้รังแคที่ขนตา หากผู้ป่วยมีระดับภูมิต้านทานต่ำลงหรือผู้สูงอายุที่มีต่อมน้ำมันค่อนข้างอุดตัน ทำให้น้ำมันคั่งค้างส่งผลให้เกิดการอักเสบ
- อาการตาแห้ง เป็นผลมาจากพฤติกรรมที่มีการกะพริบตาลดลง จากการจ้องจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ เล่นเกม หรือดูทีวีนาน ๆ ฯลฯ ทำให้น้ำตาออกมาน้อย และนำไปสู่การอักเสบที่มีผลต่อการสร้างน้ำตา ซึ่งทำให้เปลือกตาอักเสบได้บ่อยครั้ง
- การติดเชื้อแบคทีเรีย อาจเกิดจากแบคทีเรีย Staphylococcus หรือ Staph ซึ่งบางชนิดสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางครั้งอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมากเกินไป หรือการเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายบางชนิด ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อที่เปลือกตาได้
2. โรคต่าง ๆ ที่ทำให้ เปลือกตาอักเสบ
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) มีลักษณะเป็นผื่น ตุ่มนูนแดง หรือ ตุ่มหนอง อาจมีอาการแสบคัน และอาจมีอาการตาแดง ตาแห้ง เคืองตาร่วมด้วย
- โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการโดยการใช้ยาได้
อาการ เปลือกตาอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เปลือกตาส่วนหน้าอักเสบ (Anterior Blepharitis)
เกิดขึ้นเมื่อเปลือกตาด้านหน้าซึ่งเป็นจุดที่ขนตางอกออกมา มีสีแดงหรือเข้มขึ้นและบวม หรือลักษณะขุยที่ขนตา
2. เปลือกตาส่วนหลังอักเสบ (Posterior Blepharitis)
เป็นลักษณะของการอักเสบบริเวณขอบด้านในของเปลือกตา ซึ่งมีต่อมไมโบเมียนที่ผลิตน้ำมันมาเคลือบที่ผิวดวงตา (MGD : Meibomian Gland Dysfunction) เมื่อต่อมส่วนนี้ทำงานผิดปกติจะส่งผลต่อการอักเสบของขอบเปลือกตาด้านใน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการอักเสบของเปลือกตา
การที่พบว่ามีขนตาหลุดร่วง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการอักเสบของเปลือกตา สาเหตุนี้เกิดจากแผลในรูขุมขน จะทำให้เกิดความผิดปกติเวลาที่ขนตางอกขึ้นมา ซึ่งพบว่ายังมีภาวะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่เปลือกตาอักเสบ สามารถแบ่งออกเป็นระยะ ดังนี้
1. ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น
- ขนตาอาจหลุดร่วง และงอกขึ้นมาในทิศทางที่แปลกหรือขนตาบางลงเนื่องจากการอักเสบเรื้อรัง
- ตาแห้ง
- ตาแดง (เยื่อบุตาอักเสบ)
2. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว
- มีรอยแผลเป็นบนเปลือกตา
- ตากุ้งยิง (Stye) มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนสีแดง เกิดการติดเชื้อบริเวณโคนขนตา
- โรคตาแดงเรื้อรัง (Chronic Pink Eye)
- แผลที่กระจกตา (Keratitis) อาการเจ็บในส่วนของกระจกตา อาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ Staph ที่รุนแรงและเกิดซ้ำเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ การที่ต่อมน้ำมันบนเปลือกตาอาจมีการติดเชื้อและอุดตัน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อใต้เปลือกตาได้ การติดเชื้อที่ดวงตาและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ดวงตาเสียหายเนื่องจากรอยแผลเป็นใต้เปลือกตาสามารถขีดข่วนพื้นผิวบอบบางของดวงตา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแผลที่กระจกตาซึ่งเป็นส่วนชั้นนอกที่ปกป้องดวงตาอีกด้วย
ข้อแนะนำในการป้องกันอาการ เปลือกตาอักเสบ
- ควรล้างทำความสะอาดใบหน้าและรอบดวงตาเป็นประจำ
- ล้างเปลือกตาและเครื่องสำอางบนใบหน้าก่อนเข้านอน
- เปลี่ยนอุปกรณ์แต่งตา เช่น อายไลเนอร์ อายแชโดว์ มาสคาร่า เพราะอาจมีแบคทีเรียสะสมอยู่ และเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ
- อย่าสัมผัสดวงตาด้วยมือ แนะนำให้ใช้ทิชชูสะอาดหากต้องสัมผัสบริเวณดวงตา
- ไม่ควรขยี้เปลือกตาเมื่อคัน เนื่องจากเป็นการแพร่เชื้อที่มีอยู่จากเดิมได้
- ใช้น้ำตาเทียมหากมีอาการตาแห้ง โดยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกร
- สวมแว่นตาแทนคอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ
วิธีการรักษา เปลือกตาอักเสบ
ในส่วนของการดูแลด้วยการล้างตาและการประคบอุ่นสามารถลดการอักเสบได้ โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ ซึ่งการรักษาอาการนี้มักใช้การรักษาด้วยยา ดังนี้
1. รักษาเปลือกตาอักเสบ ด้วยยาสเตียรอยด์ (Steroid)
ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ สามารถใช้ยาสเตียรอยด์ ยาหยอดตา หรือขี้ผึ้งเพื่อลดการอักเสบ รวมถึงยาหยอดตาในการหล่อลื่นเพื่อบรรเทาการระคายเคืองที่เกิดจากตาแห้ง
2. รักษาเปลือกตาอักเสบ ด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
เป็นวิธีการรักษาที่เกิดจากการติดเชื้อที่เปลือกตา โดยจะมีในส่วนของยาปฏิชีวนะในรูปแบบเม็ด ครีม หรือแบบเหลว รวมถึงการให้ใช้ยาหยอดตาเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อแพร่กระจายเกินเปลือกตา
ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อดวงตา
เปลือกตาอักเสบเมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
หากพบว่าอาการเปลือกตาอักเสบมีแนวโน้มว่าจะไม่ดีขึ้น แม้มีการรักษาสุขอนามัยที่ดี ด้วยการทำความสะอาดและดูแลตามข้อปฏิบัติอย่างถูกต้องเป็นประจำ แนะนำให้นัดหมายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับการตรวจโดยละเอียดเพื่อหาวิธีการรักษาต่อไป
สรุป
เปลือกตาอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อสภาพผิวเกิดการระคายเคือง, มีการติดเชื้อ หรือเมื่อต่อมน้ำมันอุดตัน ปัจจัยเหล่านี้สามารถกระตุ้นการอักเสบของเปลือกตา ส่งผลให้ขอบของเปลือกตามีอาการบวมแดง คัน ซึ่งอาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยหลักการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขอนามัยของเปลือกตาที่ดี และการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
อาการเปลือกตาอักเสบ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา:
Blepharitis จาก Cleveland Clinic
Treating eyelid inflammation, Bepharitis จาก Healthline
When to see a doctor, Bepharitis จาก Mayo Clinic
Staphylococcal Blepharitis จาก Healthline
โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
“เซ็บเดิร์ม“ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังที่ต้องทำความรู้จัก จาก งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
Blepharitis (Lid Margin Disease) จาก The College of Optometrists
จักษุแพทย์ เตือน ! ไรขนตา ทำตาอักเสบ ติดเชื้อ จาก กรมการแพทย์
โรคตาแห้งอันตรายอย่างไร จาก ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ