แผลถลอก เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บบริเวณผิวหนังแม้เสียดสีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้เป็น แผลถลอกได้ ถึงแม้จะไม่รุนแรง และรักษาหายได้เอง แต่หากดูแลไม่ถูกวิธีอาจสร้างรอยแผลเป็นไว้ อาจเกิดความไม่มั่นใจในผิวพรรณเมื่อต้องพบปะกับผู้คน
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส จึงได้รวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับแผลถลอก ดูแลอย่างไรไม่ให้กลายเป็นแผลเป็น มาฝากกัน
แผลถลอก (Abrasions) คืออะไร ?
แผลถลอก คือ บาดแผลประเภทเปิด ที่เกิดจากพื้นผิวหนังชั้นนอกถูกถูอย่างรุนแรง ซึ่งมักพบได้บ่อยบริเวณ ข้อศอก เข่า หน้าแข้ง ข้อเท้า หรือช่วงแขนขาส่วนบน เป็นต้น
รอยถลอกนั้น มักไม่ร้ายแรงเท่ากับแผลฉีกขาดหรือแผลกรีด ที่ส่งผลต่อผิวหนังชั้นในที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งทำให้เลือดออกรุนแรง และต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งแผลถลอก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับตามความรุนแรง ดังนี้
- แผลถลอกระดับแรก ในระดับนี้จะเป็นการเสียดสีบริเวณผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) หรือที่เรียกว่าผิวหนังชั้นกำพร้า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่มีเลือดออก โดยส่วนมากจะเรียกว่า แผลถลอก (Scrapes)
- แผลถลอกระดับที่สอง ในระดับนี้จะเกิดความเสียหายต่อผิวหนังชั้นกำพร้า ลึกลงไปถึงหนังแท้ที่อยู่ใต้ผิวหนังชั้นนอก ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- แผลถลอกระดับที่สาม ในระดับนี้จะเป็นการเสียดสีอย่างรุนแรง เรียกว่า บาดแผลฉีกขาดหนังถลก (Avulsion) เป็นการเสียดสีระดับลึกลงไปกว่าชั้นหนังแท้ ซึ่งจะมีเลือดออกมาก และควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน
แผลถลอกทำให้เกิดแผลเป็นได้อย่างไร ?
เมื่อชั้นผิวหนังบาดเจ็บเป็นแผลถลอก หรือ แผลประเภทอื่น ๆ ร่างกายจะทำการรักษาตัวเองตามกระบวนการธรรมชาติจนเป็น แผลเป็น ซึ่งแผลเป็นแต่ละประเภทนั้น จะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการบาดเจ็บ และความรุนแรงนั้น ๆ ซึ่งมี 4 ประเภทหลัก ๆ คือ
- รอยแผลเป็นแบบ Hypertrophic หรือ รอยแผลเป็นนูนเกิน มักเกิดจากการเป็นแผลในบริเวณที่ผิวหนังตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อ หรือกลางหน้าอก ซึ่งจะไม่นูนเกินออกมาจากขอบเขตแผลที่บาดเจ็บ มักพบได้หลังจากแผลหายในช่วง 6 เดือนแรก และจะค่อยยุบ ๆ ลงจนกลับมาเป็น แผลเป็นคงที่ (Stable Scar)
- แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid Scars) มีลักษณะนูนเกินเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างจาก รอยแผลเป็นแบบ Hypertrophic ตรงส่วนที่ระยะนูน จะเกินออกมาจากขอบเขตบาดแผลที่บาดเจ็บ
- รอยแผลเป็นจากสิว (Acne Scars) เป็น รอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว มีลักษณะเป็นร่อง บุ๋มลึกลงไปใต้ผิวหนัง เรียกว่า Depressed Scar
- แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย (Contracture Scars) แผลเป็นประเภทนี้มักเกิดจากการไหม้ และมักจะทิ้งรอยแผลเป็นที่นูน บีบรัดผิดรูป หรือรั้งบริเวณพื้นผิวหนัง ส่งผลให้จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อบริเวณใกล้เคียงบาดแผล เช่น ไม่สามารถขยับแขน พับงอ หรือยกแขนได้ตามปกติ เนื่องจากมีการรั้งจากแผลเป็นบริเวณนั้น
เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดแผลเป็น อันเนื่องมาจากแผลถลอก หรือการบาดเจ็บจากแผลประเภทอื่น ๆ ควรทำการดูแลรักษาบาดแผลให้ถูกต้องด้วยวิธีดังต่อไปนี้
วิธีการดูแล แผลถลอก เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็น
1. ดูแลแผลถลอกให้สะอาดอยู่เสมอ
เมื่อผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยควรรีบทำความสะอาดบาดแผลทันที ล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือฆ่าเชื้อ วิธีนี้จะเป็นการกำจัดเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังเพื่อป้องกันการติดเชื้อในภายหลัง จากนั้นซับบาดแผลด้วยผ้า หรือกระดาษชำระที่สะอาด ห้ามถูบาดแผลเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบนผิวหนังได้
เพื่อเป็นการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรทำความสะอาดบาดแผลเป็นประจำด้วยสบู่ และน้ำสะอาด ช่วยขจัดแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกที่อาจส่งผลให้แผลไม่สมาน ทั้งนี้ไม่ควรทำความสะอาดแผลบ่อยกินไป เพราะยังจำเป็นต้องมีแบคทีเรียดี เพื่อช่วยในกระบวนการสมาน
หากสังเกตเห็นรอยแดง หรือบริเวณรอบ ๆ ผิวหนังมีอาการบวมขึ้น และรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าเดิม อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ โดยจะรู้สึกอุ่น มีหนองไหลออกจากบาดแผล ควรพบแพทย์ในทันที
2. รักษารอยจากแผลถลอก ให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ทาครีม หรือไฮโดรเจล เพื่อให้ผิวหนังรอบ ๆ อาการบาดเจ็บ มีความชุ่มชื้น ป้องกันอาการผิวหนังแห้ง ซึ่งจะช่วยไม่ให้สะเก็ดแตกร้าว ขณะที่แผลทำการสมานตัว หรือสามารถใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ให้ความชุ่มชื้น และป้องกันแบคทีเรียทาได้เช่น ปิโตรเลียมเจลลี น้ำผึ้ง เจลว่านหางจระเข้ หรือสารละลายไอโอดีน
ทั้งนี้ผู้ป่วยยังสามารถใช้ขี้ผึ้งปฏิชีวนะ (Antibiotic Ointment) ทาที่แผลโดยตรงได้ เพื่อทำการรักษา แต่ไม่แนะนำให้ใช้บ่อยจนเกินไป
3. ปิดบาดแผลถลอกที่ได้รับบาดเจ็บ
เมื่อทำความสะอาดบาดแผลถลอก และดูแลให้ชุ่มชื้นแล้ว ควรทำการปิดบาดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือพลาสเตอร์เพื่อป้องกันเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เข้าสู่บาดแผล ซึ่งอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้คลุมบาดแผลด้วย แผ่นเจลซิลิโคน หรือแผ่นไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ช่วยป้องกันการหลุดเมื่อเกิดการเสียดสี หรือเปียกเหงื่อ
4. เปลี่ยนผ้าปิดแผลถลอกทุกวัน
นอกจากจะเป็นการช่วยให้แผลหายเร็วแล้ว ยังลดการสะสมของเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียไม่ให้เข้าสู่บาดแผล ป้องกันการติดเชื้อในภายหลังได้ อีกทั้งการปิดแผลเป็นการกดทับ จะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลเป็นได้ด้วยเช่นกัน
5. ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ
ครีมกันแดดเป็นการช่วยป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากรังสีต่าง ๆ การป้องกันร่องรอยแผลถลอก จากแสงอาทิตย์จะทำให้รอยแผลเป็นจางลงเร็วขึ้น
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง หากเกิดแผลเป็นจากแผลถลอก
โดยทั่วไปแล้วรอยแผลเป็นนั้น ไม่สร้างอันตรายใด ๆ ให้แก่ร่างกาย แต่หากผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต จากร่องรอยที่เกิดขึ้น สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษาถึงวิธีการรักษารอยแผลเป็นจากการถลอก หรือแผลอื่น ๆ ได้
สรุป แผลถลอก ดูแลอย่างไรไม่ให้กลายเป็นแผลเป็น
แผลถลอกนั้น สามารถเป็นอาการบาดเจ็บเล็กเพียงน้อยไปจนถึงระดับรุนแรงได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณชั้นผิวหนังด้านนอกลึกถึงผิวหนังชั้นใน ซึ่งสามารถดูแลรักษาได้ด้วยการทำความสะอาดอยู่เสมอ คงความชุ่มชื้นให้แก่ผิว เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็น จากแผลถลอกได้ในภายหลัง ซึ่งหากผู้ป่วยท่านไหนที่รู้สึกไม่มั่นใจในร่องรอยของแผลเป็นจากแผลถลอก สามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป
ทั้งนี้ การมีบาดแผล ถือเป็นหนึ่งใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่สามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา
Everything You Should Know About Skin Abrasions จาก Healthline
แผลเป็น จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
Can You Do Anything to Prevent Scarring ? จาก Healthline
PROPER WOUND CARE: HOW TO MINIMIZE A SCAR จาก American Academy of Dermatology Association
Wound Care and How to Minimize Scars จาก Columbia Skin Clinic
10 Dos and Don’ts for Scar Prevention จาก Everyday Health
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ