ท้องอืด อาหารไม่ย่อย พะอืดพะอม วิธีแก้ เพื่อช่วยลดความรู้สึกไม่สบายตัวมีหลากหลายวิธีในการบรรเทา สาเหตุเกิดจากแก๊สในระบบย่อยอาหารซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องและท้องอืด จากการวิจัยพบว่าผู้คนมีอาการท้องอืดระหว่าง 13 ถึง 21 ครั้งต่อวัน อ้างอิงจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (The National Institutes of Health) โดยการปรับการทานอาหาร และการออกกำลังกายสามารถช่วยลดความรู้สึกไม่สบายตัว และเป็นวิธีไล่ลมในท้องได้
ท้องอืดมีลักษณะอย่างไร
อาการท้องอืด (Flatulence) ตามภาษาทางการแพทย์หมายถึง การปล่อยแก๊สออกจากระบบย่อยอาหารผ่านทางทวารหนัก หรือการผายลม โดยเกิดขึ้นเมื่อแก๊สสะสมภายในระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้หากมีอาการท้องอืดที่รุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น ทำให้เกิดอาการปวด เป็นตะคริว และอาการไม่สบายอื่น ๆ
สาเหตุที่ทำให้มีลมในท้อง หรือ ท้องอืด
ท้องอืด อาจเกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ เมื่อกลืนอาหาร น้ำ หรือน้ำลาย ยังเป็นการกลืนอากาศบางส่วนเข้าไปด้วย ซึ่งลมเหล่านั้นจะสะสมอยู่ในระบบย่อยอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการย่อยอาหาร เช่น โรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นต้น โดยจะทำให้ร่างกายจำเป็นต้องขับลมนั้นโดยการผายลม หรือ เรอ
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ ท้องอืด วิธีแก้ เมื่อมีลมในท้อง อาหารไม่ย่อย ต้องทำอย่างไร มาแชร์กัน
1. ท้องอืด วิธีไล่ลมในท้องแก้โดยการทานอาหารให้ช้าลง
อากาศหรือลมส่วนใหญ่จากถูกกลืนผ่านปากเข้าไปยังร่างกาย อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถลดปริมาณการกลืนลมเข้าไปได้ โดยการรับประทานอาหารให้ช้าลง และไม่ควรทานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทานอาหารระหว่างเดินทาง หรือขณะทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เดิน ขับรถ เป็นต้น
2. เมื่อท้องอืด วิธีแก้คือลดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส
อาหารบางชนิดผลิตแก๊สมากกว่าอาหารอื่น ๆ เช่น กลุ่มคาร์โบไฮเดรตบางประเภท ซึ่งคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ถูกสะสมอยู่ในลำไส้ใหญ่และมีเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางเดินอาหารได้
อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ผลิตแก๊สที่ควรเลี่ยง มีดังนี้
- กลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อน (Complex Sugars) เช่น ถั่ว กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง โฮลเกรน เป็นต้น
- กลุ่มฟรักโทส (Fructose) เช่น หัวหอม ลูกแพร์ อาร์ติโชค (Artichoke) น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เป็นต้น
- กลุ่มแแล็กโทส (Lactose) เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม รวมทั้ง ชีส ไอศกรีม เป็นต้น
- กลุ่มไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber) เช่น รำข้าวโอ๊ต ถั่วลันเตา และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
- กลุ่มแป้ง (Starches) เช่น มันฝรั่ง พาสต้า ข้าวสาลี และข้าวโพด เป็นต้น
3. วิธีแก้อาการท้องอืดด้วยโพรไบโอติกส์ (Probiotics)
ระบบทางเดินอาหารในร่างกายจะประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งโพรไบโอติกส์ จัดเป็นกลุ่มแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ จึงสามารถช่วยในการย่อยอาหาร ปรับสมดุลลำไส้ ด้วยการเข้าไปลดปริมาณจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี และกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิด ที่ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน โดยอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ แตงกวาดอง มิโซะ ชาหมัก เป็นต้น
4. อาการท้องอืด มีวิธีแก้โดยการเพิ่มการออกกำลังกาย
การขยับร่างกายสามารถช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติได้ โดยอาจเดินช้า ๆ หลังจากการรับประทานอาหาร เพื่อลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือออกกำลังกายในระดับปานกลาง 4 – 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะทำให้กระเพาะ ลำไส้ เคลื่อนตัวได้ดี และลดอาการท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง ทั้งนี้ไม่ควรเดิน หรือ ออกกำลังกายหลังอาหารทันที เนื่องจากการออกกำลังกายจำเป็นต้องใช้พลังงานมาก หากเป็นช่วงเวลาที่กระเพาะยังทำการย่อยอาหารอยู่อาจส่งผลไม่ดีต่อร่างกายได้ ควรพักและออกกำลังกายหลังจากทานอาหาร มื้อเล็กประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หรือ หลังอาหารว่าง 30 – 60 นาที
5. การรักษาอาการท้องผูก เป็นวิธีแก้ ท้องอืด
หากมีอาการท้องผูก (Constipation) หรือ พบว่าตนเองถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ อาจส่งผลให้เกิดลมในท้องได้ เนื่องจากอุจจาระมีแบคทีเรียจำนวนมาก หากตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการสะสมแก๊สจำนวนมาก และรู้สึกไม่สบายท้องอีกด้วย
วิธีการรักษาอาการท้องผูกให้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำปริมาณ 1.5 – 2 ลิตรทุกวัน จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและช่วยแก้อาการท้องผูก เนื่องจากอุจจาระจะมีความชุ่มชื้นขึ้น
- ทานอาหารที่มีปริมาณเส้นใย (Fiber) ประมาณ 20 – 35 กรัมต่อวัน โดยเพิ่มเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) เช่น เส้นใยจากผัก ผลไม้ ซึ่งดีกว่าประเภทที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber) ซึ่งเป็นเส้นใยจากเมล็ดธัญพืช
- การฝึกสุขนิสัยการขับถ่าย ควรถ่ายอุจจาระเมื่อเริ่มรู้สึกอยากขับถ่ายโดยไม่เมินเฉย เพราะหากรีรอ สัญญาณในการขับถ่ายนั้นจะอ่อนลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เกิดการขับถ่ายที่ผิดปกติจากเดิมได้
- การรักษาด้วยการใช้ยา สามารถใช้ยาระบายได้เป็นครั้งคราว ซึ่งยาระบายมีหลายชนิดตามกลไกการออกฤทธิ์ ทั้งนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของยา ตามคำสั่งของแพทย์หรือเภสัชกร และไม่ควรใช้ยาระบายบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสในการติดยาระบาย (ดื้อยาระบาย) หากต้องใช้ยาระบายติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์
อาการท้องอืดแบบไหนที่พบควรแพทย์
หากมีอาการท้องอืดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือหากพบอาการต่อไปนี้ร่วมกับอาการท้องอืด แนะนำให้ไปพบแพทย์เนื่องจากอาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ
- ท้องบวม
- อาการปวดท้อง
- มีลมในท้องตลอดเวลาและรุนแรง
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- การลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Everything You Need to Know About Flatulence จาก Healthline
- Flatulence จาก NHS Inform
- 10 Tips to Help You Stop Farting จาก Healthline
- How Long Should You Wait to Exercise After Eating? จาก GoodRx
- พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) VS โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จาก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สิ่งที่ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน(1) จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภาวะท้องผูก ใครว่าแก้ไม่ได้ ? จาก ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่