ปวดท้องน้อยด้านซ้าย อันตรายไหม และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ ?

ปวดท้องน้อยด้านซ้ายอันตรายไหม ? และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ ?

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งในบางรายอาจเป็นแล้วหายได้เอง หรือเป็นเรื้อรัง และรุนแรงจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ ปวดท้องน้อยด้านซ้ายอันตรายไหม และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ มาแชร์กัน

 

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย คืออะไร ?

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย เป็นอาการเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบอวัยวะภายในที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง โดยสามารถบ่งบอกได้ถึงปัญหาของสุขภาพที่แตกต่างกันไป

 

อวัยวะใดบ้างที่อยู่บริเวณ ท้องน้อยด้านซ้าย

  • บางส่วนของลำไส้เล็ก
  • ลำไส้ใหญ่ตำแหน่ง Descending และ Sigmoid
  • ท่อไตด้านซ้าย
  • ระบบอวัยวะสืบพันธุ์
  • รังไข่ข้างซ้าย และท่อมดลูกในบางราย

 

สาเหตุของอาการ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จากโรคต่าง ๆ

 

สาเหตุทั่วไปของอาการ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จากโรคต่าง ๆ

 

1. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)

เกิดจากการที่ ลำไส้ใหญ่อ่อนแอ มีการอักเสบของกระเปาะบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่ จนเกิดเป็นถุงเล็ก ๆ ขึ้นมาทำให้ลำไส้ใหญ่บริเวณนั้นบวมแดงจนเป็นฝี แตกเป็นแผล นำไปสู่การปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือด้านขวาอย่างเฉียบพลัน

ลักษณะอาการของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ

  • กดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา
  • มีอาการปวดท้องรุนแรงเรื้อรัง
  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการหนาวสั่น
  • รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย
  • ท้องอืด ท้องผูก บางรายอาจมีอาการท้องเสีย

วิธีการรักษาอาการ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ

หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง โดยสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตหมั่น รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ กากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในอีกกรณีแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะโดยส่วนมากอาการอาจจะดีขึ้น หรือหายขาด ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะทำการผ่าตัดและพิจารณาว่าจะใช้การผ่าตัดแบบใด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวารุนแรงขึ้น เมื่อขยับตัว
  • อุจจาระปนมีเลือดมากผิดปกติ มีสีแดงหรือสีดำ
  • มีลม หรืออุจจาระออกมาจากท่อปัสสาวะ ในขณะปัสสาวะ

2. แก๊สจากกระบวนการย่อยอาหาร (Gas)

การขับแก๊สและการเรอ เกิดจากกระบวนการย่อยอาหารตามปกติ แต่หากรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ไขมันสูง ทอด มีรสเผ็ด น้ำอัดลม หรือถั่วต่าง ๆ จะทำให้เกิดกรดและแก๊สออกมาในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังมีโรคบางชนิดที่อาจทำให้เกิดแก๊สส่วนเกินได้ เช่น อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ภาวะพร่องเอนไซม์ แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้แปรปรวน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดจุก ปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือปวดจุกบริเวณท้องซ้ายด้านบน ทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก

ลักษณะอาการ แก๊สเกินในกระบวนการย่อยอาหาร

  • เรอ
  • ผายลม
  • ท้องอืด
  • ปวด และอึดอัดบริเวณท้อง

วิธีการรักษาอาการ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จากแก๊สเกินในกระบวนการย่อยอาหาร

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถหายได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน รวมไปถึงอาหารที่ทาน เช่น เลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียด หรือเดินย่อยหลังจากทานอาหารเสร็จ จะสามารถช่วยลดแก๊สส่วนเกินได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และทำการรักษาต่อไป

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสีย เป็นระยะเวลามากกว่า 2 – 3 สัปดาห์
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลด
  • มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป อุจจาระเป็นสีดำ หรือเป็นเลือด

3. ไส้เลื่อน (Hernia)

เกิดจากการที่เนื้อเยื่อ เช่น เนื้อไขมัน ลำไส้ หรือ กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเคลื่อนตัวโผล่ผ่านทางจุด หรือบริเวณที่มีความอ่อนแอบนผนังหน้าท้องที่อาจเป็นโดยกำเนิด หรือเกิดจากการผ่าตัดจนทำให้ผนังช่องท้องบริเวณนั้นอ่อนแอ ซึ่งก้อนเนื้อนั้นโผล่ออกมานอกช่องท้องแต่อยู่ยังอยู่ใต้ผิวหนังมีลักษณะนูนขึ้นมาบริเวณหน้าท้อง

ลักษณะอาการ ไส้เลื่อน

ในช่วงแรก ๆ อาจไม่มีอาการเจ็บปวด แสดงออกมาเห็นได้ชัดเจน แต่สามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • ลักษณะตุงนูนยื่นออกมาบริเวณที่เคยผ่าตัด หรือบริเวณขาหนีบ
  • รู้สึกแน่นท้อง
  • ปวดแสบปวดร้อน บริเวณท้องน้อย
  • ท้องผูก
  • อาเจียน

วิธีการรักษาอาการ ไส้เลื่อน

เบื้องต้นแพทย์จะให้ยาลดปวด และจัดท่าเพื่อดันไส้เลื่อนกลับ หรือหากรุนแรงเกินไปจะใช้วิธีการผ่าตัด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอาการจุก หรือเจ็บปวดบริเวณมีก้อนตุงนูน แน่นท้อง ปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของ อาการในระดับรุนแรง จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อได้รับการผ่าตัดด่วน

4. นิ่วในไต (Kidney Stones)

เกิดจากแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณไต รวมไปถึงสามารถพบได้บ่อยในบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะเช่นกัน ทั้งนี้หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มากจนเกินไป อาจไปปิดกั้น และสร้างบาดแผลให้กับท่อไต ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ลักษณะอาการ นิ่วในไต

  • ปวดหลัง ปวดท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวา
  • รู้สึกปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขาหนีบ
  • ปวดบีบเป็นระยะ และปวดรุนแรงเป็นช่วง ๆ ที่บริเวณดังกล่าว
  • พฤติกรรมการปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไปน้อย เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง มีเลือดปน หรือปัสสาวะมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการหนาวสั่น เป็นไข้

วิธีการรักษาอาการ นิ่วในไต

หากก้อนนิ่ว ไม่มีขนาดใหญ่มาก แพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อเป็นการขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ ทั้งนี้หากก้อนนิ้วมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะขับออกมาได้แพทย์จะทำการรักษา ด้วยวิธีการใช้เครื่องสลายนิ่ว การส่องกล้องสลายนิ่ว หรือการผ่าตัด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

รับประทานยาบรรเทาปวดแล้วก็ยังไม่หาย และมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา พร้อมกับมีไข้สูงร่วมด้วย

5. อาการปวดประจำเดือน (Menstrual Cramps)

ประจำเดือนเกิดจากการผลัดเยื่อบุมดลูกเดือนละครั้ง โดยส่วนมากมักมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย ขวา หรือทั้งสองฝั่ง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

ลักษณะอาการ ปวดประจำเดือน

  • ปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา
  • อาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวา มักเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 – 3 ของการเป็นประจำเดือน
  • ปวดหนักและปวดอย่างต่อเนื่อง
  • อาการปวดร้าวสามารถลามไปถึงหลังส่วนล่าง หรือช่วงขา
  • ในบางรายจะมีอาการ ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย

วิธีการบรรเทาอาการ ปวดประจำเดือน

  • ใช้ถุงร้อนประคบบริเวณที่ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา
  • นวดบริเวณท้องน้อย
  • ทานอาหารเบา ๆ และมีสารอาหารครบ 5 หมู่
  • ผ่อนคลายร่างกายด้วยการทำโยคะ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

-มีอาการปวดหลังจากใส่ห่วงอนามัย
-มีอาการเจ็บปวดท้องน้อยด้านซ้าย และขวา ทุกครั้งต่อเนื่องมากกว่า 3 รอบของการเป็นประจำเดือน
-ลิ่มเลือดไหลออกมาเยอะกว่าปกติ
-ปวดเกร็งเป็นตะคริว ร่วมกันกับอาการคลื่นไส้ และท้องร่วง
-ปวดอุ้งเชิงกรานเมื่อไม่มีประจำเดือน

6. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

เกิดจากการที่เนื้อเยื่อคล้ายกับเยื่อบุมดลูกเจริญนอกโพรงมดลูก เช่น เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ ผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือ ผนังเยื่อที่บุเชิงกราน ทั้งนี้สาเหตุอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อเป็นรอบเดือน

ลักษณะอาการ ของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

  • ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ โดยปวดท้องน้อยด้านซ้าย และขวา
  • มีอาการปวดเกร็งตะคริว นานกว่า 1 – 2 สัปดาห์ระหว่างเป็นรอบเดือน
  • เลือดออกระหว่างรอบเดือนมากผิดปกติ
  • มีบุตรยาก
  • รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ระหว่างรอบเดือน

วิธีการรักษาอาการ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

โดยแพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยา กลุ่มต้านการอักเสบ หรือยาปรับฮอร์โมน และรักษาโดยการผ่าตัดเอารอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออก

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการปวดหน่วงช่วงทวารหนัก ระหว่างมีรอบเดือน
  • ปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวาเรื้อรัง

7. โรคถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)

ถุงน้ำรังไข่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท แบบแรกไม่อันตราย คือ ถุงน้ำรังไข่แบบธรรมดา และแบบที่สอง แบบอันตราย คือ ถุงน้ำชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยที่อาการผิดปกตินั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำรังไข่ เช่น รังไข่ขยายใหญ่ขึ้น หรือมีอาการผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดการบิดเกลียวของปีกมดลูก

ลักษณะอาการของ โรคถุงน้ำรังไข่

  • คลำเจอก้อนที่หน้าท้อง
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • มีภาวะน้ำหนักขึ้น
  • เกิดสิว
  • มีอาการท้องอืด แน่นท้อง

วิธีการรักษาอาการ โรคถุงน้ำรังไข่

เมื่อสังเกตร่างกายไปสักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกได้ถึงความผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการฉีดยา หรือการผ่าตัด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

  • ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา
  • ปวดรอบเดือนมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • หน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • ในบางรายมีอาการอ้วนขึ้น ทั้งที่มีพฤติกรรมการทานอาหารที่เหมือนเดิม

 

อาการร่วมเมื่อ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย ที่ควรเข้าพบแพทย์

 

 อาการร่วมเมื่อ ปวดท้องน้อยด้านซ้าย ที่ควรเข้าพบแพทย์

 

อาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเรื่องที่ปกติและสามารถหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามหากเกิดขึ้นและมีอาการร่วมเหล่านี้ควรรีบเข้าแพทย์ในทันที

  • เป็นไข้
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการท้องเสีย หรือท้องผูก
  • ขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระเป็นเลือด
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดอาการช็อก เช่น ผิวหนังเย็นและชื้น หายใจเร็ว หน้ามืด หรือมีอาการอ่อนแรง

 

สรุป ปวดท้องน้อยด้านซ้ายอันตรายไหม และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย มักเป็นอาการปกติ และสามารถหายได้เอง แต่ในบางครั้งที่มีอาการปวดรุนแรง อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ แก๊สเกินจากระบบย่อยอาหาร ไส้เลื่อน นิ่วในไต ประจำเดือน ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ โรคถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ จึงควรสังเกตร่างกายของตนเองอยู่สม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาต่อไป

 

ทั้งนี้ อาการปวดท้อง ถือเป็นหนึ่งใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่สามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ

 

ที่มา:

What’s Causing Pain in My Lower Left Abdomen? จาก Healthline

ท้องอืด วิธีแก้ เมื่อมีลมในท้อง อาหารไม่ย่อย ต้องทำอย่างไร จาก eXta Plus

รู้ไหม…ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Is the Rash on My Back Shingles ? จาก Healthline

What Everyone Should Know about Vaccine จาก CDC

Shingles จาก NHS

What Causes Painful Menstrual Periods and How Do I Treat Them? จาก Healthline

Menstrual cramps จาก Mayo Clinic

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Endometriosis จาก Healthline

โรคถุงน้ำรังไข่ หากเป็นแล้วอันตรายหรือไม่ จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ

 

All Pharma See

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้เอ็กซ์ต้าเห็นการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นๆ เอ็กซ์ต้ายังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้เอ็กซ์ต้าไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า ทั้งนี้หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของเอ็กซ์ต้า แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก