ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดได้กับหลายอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งรบกวนการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหายของอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต
ลิ่มเลือดคืออะไรและเกิดได้อย่างไร
ลิ่มเลือดคือกลไกในการป้องกันตัวของร่างกายเมื่อเกิดบาดแผลทำให้เลือดหยุด จึงป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดเลือด แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ เมื่อลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นไปอุดตันเส้นเลือดขนาดเล็กที่อวัยวะภายในต่างๆ
สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด
-
การฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และบาดแผลที่หลอดเลือดจากการผ่าตัด การบาดเจ็บของกระดูก และอวัยวะภายใน การหลุดลอกของไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือด ดังนั้นภาวะไขมันในเลือดสูง จึงจัดเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
-
การไหลเวียนของเลือดในร่างกายที่น้อยเกินไป เกิดได้จากทั้งภาวะเลือดหนืด หรือการเคลื่อนไหวของร่างกายที่น้อยเกินไป เช่น การนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน
-
การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
-
โรคบางชนิด เช่น โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง (Autoimmune diseases) ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดที่มากขึ้น
-
พันธุกรรม
อาการแสดงเมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะมีความแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มีการอุดตันของลิ่มเลือดดังนี้
ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด – มีอาการเหนื่อย โดยจะเหนื่อยมากขึ้นเมื่อมีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา – มีอาการขาบวม เป็นตะคริว ชา
ลิ่มเลือดอุดตันที่ท้อง – มีอาการปวดท้องรุนแรง
ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมอง – มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อ่อนแรง พูดไม่ชัด อาการเหมือนเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ลิ่มเลือดอุตตันที่หัวใจ – มีอาการปวดหน้าอกร้าวมาที่แขน และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด นำไปสู่การเสียชีวิตได้