เคยสังเกตการเคี้ยวของตัวเองกันบ้างไหมคะ ว่าเคี้ยวอาหารได้ละเอียดดี หรือว่ารีบเคี้ยวรีบกลืน เพราะเร่งรีบจะต้องไปทำอย่างอื่นต่อ
จนบางคนติดนิสัยทานอาหารเร็วแบบติดจรวด ส่วนมากจะเป็นผู้ชายที่รับประทานอาหารเร็วกกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นพฤติกรรมการรับประทานที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ลองมาดูกันค่ะว่าการเคี้ยวให้ละเอียดมีผลดีต่อร่างกายยังไงบ้าง
- รับรู้รสชาติอาหารช่วยให้จิตใจผ่อนคลายได้ ยุคนี้อาหารกลายเป็นศิลปะ ทั้งการจัดจาน สีสันของอาหาร อาหารบางร้านใส่กิมมิคให้ดูน่ารับประทานมากขึ้น เป็นการสร้างความสุขผ่านการมอง และถ้าอาหารอร่อยก็ยิ่งสร้างความสุขจากการรับประทาน การเคี้ยวช้าๆ ก็จะทำให้รับรสชาติได้ดีขึ้น และทำให้จิตใจผ่อนคลายได้
- ดูดซึมสารอาหาร และพลังงานได้มากขึ้น การเคี้ยวอาหารจากชิ้นใหญ่ให้เล็กลงทำให้ลำไส้สามารถดูดซึมอาหารได้ง่าย และเราก็จะได้สารอาหารในการฟื้นฟูร่างกายได้มากขึ้น
- ช่วยควบคุมน้ำหนักให้คงที่ มีงานวิจัยว่าการรับประทานอาหารให้ช้าลง จะช่วยให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักลด หรือคงที่ได้
- ช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ง่ายขึ้น การเคี้ยวนานๆ ทำให้อาหารได้สัมผัสกับน้ำลาย ซึ่งมีไลเปสเป็นเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน ส่งผลให้กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กไม่ต้องทำงานหนัก
- ช่วยให้ฟันแข็งแรง การเคี้ยวเป็นการบริหารกระดูกที่พยุงฟันให้แข็งแรง และน้ำลายที่ออกมาขณะเคี้ยวจะช่วยขจัดเศษอาหาร ชะล้างแบคทีเรียและหินปูน จึงช่วยให้ฟันผุน้อยลง แต่ไม่ควรเคี้ยวลม (การเคี้ยวที่ไม่มีอาหาร) เพราะจะทำให้ร่างกายคิดว่าอาหารกำลังจะมา จึงผลิตกรดและเอ็นไซม์ออกมา ซึ่งไม่ดีต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
- ลดแบคทีเรียส่วนเกินในลำไส้ การเคี้ยวไม่ละเอียดอาจทำให้เศษอาหารที่ใหญ่เกินไปไม่ถูกขจัดออก และกลายเป็นสิ่งตกค้างอยู่ในลำไส้ เมื่อเน่าเปื่อยก็จะกลายเป็นแก๊ส ทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องร่วงได้ ซึ่งหากเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อาหารจะถูกลำเลียงออกจากลำไส้ทางระบบขับถ่าย ซึ่งจะช่วยลดแบคทีเรียได้
ประโยชน์จากการเคี้ยวให้ละเอียดช่วยให้ร่างกายสมดุล แต่หลายคนอาจสงสัยว่าเคี้ยวอย่างไร ถึงเรียกว่าละเอียด เรามีคำตอบค่ะ การเคี้ยวที่ถูกต้องอย่างน้อยควรเคี้ยวคำละประมาณ 100 ครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ เพราะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่รับประทานด้วย รวมถึงต้องมีความผ่อนคลาย ไม่รับประทานขณะวิ่ง เดิน หรือทำงาน เพราะจะทำให้เร่งรีบและเคี้ยวได้ไม่ละเอียด โดยเริ่มจากการรับประทานอาหารคำเล็กๆ ค่อยๆ เคี้ยวจนเละเป็นน้ำๆ แล้วค่อยกลืนจะดีที่สุด