กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย สิ่งนี้เรียกว่า การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรง และเชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังไตได้
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นอย่างไร อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ มาแชร์กัน
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะรูปสามเหลี่ยม ลักษณะกลวง อยู่ในช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งถูกยึดไว้กับที่โดยเอ็นติดกับกระดูกเชิงกราน ผนังของกระเพาะปัสสาวะจะคลายตัวและขยายตัวเพื่อกักเก็บปัสสาวะ จากนั้นจะบีบตัวและแผ่ออกจนเกิดการขับถ่ายปัสสาวะผ่านท่อปัสสาวะ โดยระบบทางเดินปัสสาวะทำหน้าที่รักษาสมดุลของร่างกายด้วยการขจัดของเสีย เช่น ยูเรีย และสิ่งอื่น ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) คือ คำศัพท์ทางการแพทย์สำหรับ การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI: Urinary Tract Infection) โดยแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ คือ Escherichia Coli (E.Coli) หรือ อีโคไล เป็นเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบบ่อยที่สุดในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นมักเกิดขึ้นในผู้หญิง เนื่องจากความยาวของท่อปัสสาวะในผู้หญิงค่อนข้างสั้นกว่าผู้ชาย และบริเวณทวารหนักอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะ
ลักษณะอาการของโรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะบ่อย ปริมาณน้อย และเร่งด่วนกว่าปกติ
- ปวดแสบปวดร้อน หรือ แสบเมื่อปัสสาวะ
- สีของปัสสาวะเข้ม ขุ่น หรือมีกลิ่นแรง
- ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือกดเจ็บ
- รู้สึกไม่ค่อยสบาย ปวดเมื่อย และรู้สึกเหนื่อย
- ปัสสาวะเป็นเลือดในบางครั้ง
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ทำให้เกิดโรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สามารถแบ่งการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะออกเป็น 2 ประเภท ตามสภาวะผู้ป่วย ดังนี้
-
การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบไม่ซับซ้อน (Uncomplicated UTI)
คือ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะที่ผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติทางโครงสร้าง หรือ ระบบประสาทควบคุมการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นผู้หญิงซึ่งเกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อหรือ กรวยไตอักเสบ โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะถูกกำจัดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะในระยะเวลาอันสั้น
-
การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน (Complicated UTI)
คือ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางโครงสร้าง หรือ การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลทำให้การไหล หรือ การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติได้ นอกจากนี้รวมถึงการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีสภาวะอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว Sickle Cell Disease (SCD), โรคถุงน้ำในไต (Polycystic Kidney Disease), ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (Immunocompromised Host), ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
โรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากแบคทีเรีย (Bacterial Cystitis)
มักเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียภายนอกร่างกายเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะและเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น กรณีส่วนใหญ่ของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากแบคทีเรีย Escherichia Coli (E. Coli) แต่แบคทีเรียประเภทอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
นอกจากนี้การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดขึ้นในผู้หญิงหลังมีเพศสัมพันธ์ และในผู้ที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริเวณอวัยวะเพศหญิงมักมีแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
-
โรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Noninfectious Cystitis)
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษามะเร็ง (เคมีบำบัด) อาจทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ เนื่องจากส่วนประกอบที่แตกตัวของยาถูกขับออกจากร่างกาย
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากรังสี การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการอักเสบในเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะ
- การใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมและการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ (เช่น โรคสมอง,โรคเกี่ยวกับไขสันหลัง) ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเนื้อเยื่อเสียหาย
- สารเคมี บางคนอาจไวต่อสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม (Perfumed Soap) หรือ สบู่ทำฟองในอ่างอาบน้ำ (Bubble Bath) ฯลฯ ที่ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ขึ้นภายในกระเพาะปัสสาวะ
- ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอื่น ๆ เช่น เบาหวาน นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต หรือการบาดเจ็บไขสันหลัง
แนวทางการป้องกันความเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำ 8 – 10 แก้วต่อวัน อาจช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่เพิ่มจำนวนในกระเพาะปัสสาวะได้
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ และไปห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ
- เมื่อขับถ่ายเรียบร้อย สำหรับผู้หญิงแนะนำให้เช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ ป้องกันแบคทีเรียในบริเวณทวารหนักไม่ให้แพร่กระจายไปยังช่องคลอดและท่อปัสสาวะล้างตำแหน่งของการปัสสาวะและอวัยวะเพศหลังจากมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือแป้งฝุ่นบริเวณอวัยวะเพศ
- อาบน้ำฝักบัว แทนการอาบน้ำในอ่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อวัยวะเพศสัมผัสกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดนานเกินไป
- สวมกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย แทนผ้าใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอน และไม่สวมกางเกงยีนส์และกางเกงขายาวรัดรูป
อาการของ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่ควรไปพบแพทย์
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักไม่ก่อให้เกิดความกังวลร้ายแรง แต่อาการเหล่านั้นอาจคล้ายกับอาการอื่น ๆ การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สิ่งที่ควรไปพบแพทย์มี ดังนี้
- มีไข้และปวดหลังส่วนล่างหรือสีข้าง เนื่องจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักไม่ทำให้เกิดไข้สูง หากพบว่ามีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศา (100.4F) ขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในไต หรือ เรียกอีกอย่างว่า กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- ปัสสาวะเป็นเลือด เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากแบคทีเรียทั่วไป แต่สัญญาณนี้อาจพบได้บ่อยขึ้น หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดขึ้นหลังการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือ การฉายรังสีสำหรับโรคมะเร็ง
- ปวดปัสสาวะอย่างเร่งด่วน บ่อย หรือเจ็บปวดเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือนานกว่านั้น
- พบว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ
- หากกำลังตั้งครรภ์ และมีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ชาย
- อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน
สรุป
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีที่อาการของโรคไม่รุนแรงมักจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วัน สามารถปรึกษากับเภสัชกรหากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา สำหรับใครที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ อาจต้องได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอหรือระยะยาว อีกทั้งในบางกรณีโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจนำไปสู่การติดเชื้อในไตที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากอาการไม่ดีขึ้น
ที่มา:
รายงาน แนวทางการวินิจฉัยและรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ(Urinary Tract Infection) ในหน่วยบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
บทความ Cystitis จาก NHS inform
บทความ Cystitis Symptoms Causes จาก Mayo Clinic
เอกสารประกอบการสอนหมายเลข 1 เรื่อง การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinarytract infection) จาก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความ Urinary System Anatomy and Function จาก Cincinnati Children’s