ตาแดง (Conjunctivitis หรือ pink eye) โรคฮิตในช่วงหน้าฝน ยิ่งในช่วงที่ฝนตกหนักอย่างนี้ อาจทำให้เกิดอาการตาแดงได้ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่ดวงตา ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย
ตาแดง (Conjunctivitis หรือ pink eye) คือ อาการที่ตาขาวมีสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีแดงหรือสีชมพู อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คัน ระคายเคือง เจ็บ ตาบวม มีน้ำตามาก หรืออาจมีขี้ตาร่วมด้วย ตาแดงเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลัก ซึ่งมีอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ตาแดง จากการติดเชื้อซึ่งมีทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
- ตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis) เป็นสาเหตุของการอาการตาแดงที่พบมากที่สุด
– มีอาการตาแดงทั้งสองข้าง เริ่มจากแดงข้างหนึ่งและลามไปที่ตาอีกข้าง
– มีอาการระคายเคืองตา ขี้ตาเหลว ๆ จำนวนมากสีใส สีขาวหรือเหลืองอ่อน แต่ไม่หนามาก ไม่ได้เป็นอาการสำคัญของการติดเชื้อไวรัส
– อาจเกิดร่วมกับโรคหวัด หรือการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบน
– สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานที่ที่คนหนาแน่น
- ตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)
– อาการหลักคือมีขี้ตาหนาเกรอะกรัง สีเขียวหรือเหลือง ร่วมกับตาแดง เจ็บตา
– สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย
– อาจมีการติดเชื้อในหูร่วมด้วย
2. ตาแดง จากโรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้
- เกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น แพ้ละอองเกสรดอกไม้ หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ
– มีอาการตาแดงทั้งสองข้าง
– มีน้ำตาไหลมาก ร่วมกับอาการคันตา ตาบวม
– มักเกิดร่วมกับอาการอื่นของโรคภูมิแพ้ เช่น คันจมูก จาม คันคอ หรือแม้กระทั่งหอบหืด
– ไม่ติดต่อไปยังบุคคลอื่น
3. การระคายเคืองจากฝุ่น ควัน สารเคมี หรือสารก่อให้เกิดการระคายเคืองอื่น ๆ
- เกิดจากการระคายเคืองจากฝุ่นควัน ลม สารเคมี คอนแทคเลนส์ หรือสารก่อการระคายเคือง
– มีอาการ ตาแดง หลังจากการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
– อาจมีเส้นเลือดฝอยในตาแตก โดยเฉพาะเมื่อขยี้ตารุนแรงหรือขยี้ตาบ่อย ๆ
การรักษาอาการตาแดง
- ตาแดงที่เกิดการติดเชื้อไวรัส ปกติจะหายได้เองภายใน 7-14 วัน โดยไม่ต้องใช้ยา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่คนอื่น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น และล้างมือบ่อย ๆ
- ตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาโดยการใช้ยาหยอดตาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อลดระยะเวลาในการเกิดโรค ลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อน และลดการแพร่กระจายสู่คนอื่น ทั้งนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชน และยังคงต้องล้างมือบ่อย ๆ
- ตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้ สิ่งแรกที่ควรทำคือหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ เช่นฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไรฝุ่น และใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ
- ตาแดงที่เกิดจากการระคายเคือง ควรล้างหรือกำจัดเอาสิ่งแปลกปลอมออกให้เร็วที่สุด และสามารถใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยาแก้แพ้และยาหดหลอดเลือดเพื่อบรรเทาอาการตาแดง สิ่งที่สำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงจากสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
นอกจากนี้ หากมีอาการ ตาแดง สามารถใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้ ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตาในคนที่เป็นโรค ตาแดง จากทุก ๆ สาเหตุได้ แต่ถ้าหากอาการตาแดงมีการแตกของหลอดเลือด ลามไปถึงหลอดเลือดดำ ตามีความขุ่นมัว มีอาการปวดศีรษะ ปวดตา คลื่อนไส้อาเจียน หรือการมองเห็นมีความปิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป
การป้องกันอาการ ตาแดง
- รักษาความสะอาดและสุขลักษณะที่ดี ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการใช้มือที่ยังไม่ได้ล้าง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- ถ้าตาแห้ง สามารถใช้น้ำตาเทียมคอยให้ความชุ่มชื้น เพื่อลดการระคายเคืองดวงตาที่เกิดจากภาวะตาแห้ง
- เลือกคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสม เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามเวลาที่กำหนด ล้างคอนแทคเลนส์ให้สะอาดและเลือกน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสม
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยา หรืออาการภูมิแพ้ สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Conjunctivitis (Pink Eye). Centers for Disease Control and Prevention. Accessed on 2 May, 2023
- Pink Eye (Conjunctivitis). American Academy of Ophthalmology. Accessed o 2 May 2, 2023
- ศ.นพ. พรชัย สิมะโรจน์. อาการตาแดง ชนิดอันตรายมาก และชนิดอันตรายน้อย. Rama Channel. 12 August 2016.
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง