อีสุกอีใส หนึ่งในโรคที่ติดต่อได้ง่ายมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และถ้าหากใครมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระวังตัวเองไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคนี้อยู่เสมอ
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส จึงมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ โรค อีสุกอีใส (Chickenpox) มาฝากกัน ซึ่งจะอธิบายถึงสาเหตุ อาการ และภาวะแทรกซ้อน พร้อมทั้งวิธีป้องกัน และการรักษา รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคอีสุกอีใสกับโรคงูสวัด เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
อีสุกอีใส คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร ?
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) คือ ไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีไข้ และมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส และงูสวัด การแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำใสของผู้ป่วย การสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อ หรือการสัมผัสกับสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าในเด็กอายุ 5-9 ปี มีอัตราการป่วยสูงสุดคิดเป็น 579 คน ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี 10-14 ปี และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปตามลำดับ โรคอีสุกอีใสพบได้ตลอดทั้งปี แต่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นชื้นเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของไวรัส
อาการของ อีสุกอีใส
หลังจากได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัว 10-21 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14-16 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสในระยะแพร่เชื้อ โดยในช่วง 1-2 วันแรก จะมีอาการ ดังนี้
- มีไข้ต่ำประมาณ 37.5-39.4 องศาเซลเซียส
- รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- เบื่ออาหาร
จากนั้น จะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว ใบหน้า บางรายอาจมีตุ่มขึ้นตามเยื่อบุต่าง ๆ เช่น เยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา 2-4 วันถัดมาผื่นจะพัฒนาเป็นตุ่มน้ำใส ทำให้เกิดอาการคัน ในระยะต่อมาตุ่มจะกลายเป็นหนอง และตกสะเก็ด
อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ ?
- มีไข้สูง ติดต่อนานเกิน 4 วัน
- มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ร่วมกับแขนขาอ่อนแรง เกิดอาการชัก ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของสมองอักเสบ, เจ็บหน้าอกมาก อาจเกิดจากปอดติดเชื้อ
- ไออย่างรุนแรง
- อาเจียนบ่อย ปวดท้องรุนแรง หายใจลำบาก
การติดต่อของโรคอีสุกอีใส
อีสุกอีใสสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางลมหายใจ การไอ จาม รวมไปถึงการสัมผัสทางตรง อย่างเช่น สัมผัสแผล ตุ่มที่ขึ้นตามตัวของผู้ป่วย หรือการสัมผัสทางอ้อม อย่างการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น หมอน ที่นอน ผ้าขนหนู เป็นต้น
สำหรับโรคนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนที่ผื่นจะขึ้นไปจนถึงตกสะเก็ด เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรหยุดพักรักษาตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
อีสุกอีใส ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงครั้งเดียว หลังจากเป็นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่จะมีเชื้อซ่อนอยู่ตามปมประสาท ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคงูสวัดได้
โรคอีสุกอีใส พัฒนาเป็นโรคงูสวัดได้อย่างไร ?
งูสวัด คืออะไร ?
โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella Virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส ซึ่งจะเกิดกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเชื้อไวรัสจะซ่อนอยู่ตามปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เชื้อที่แฝงมาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาทางผิวหนัง
อาการของงูสวัด
เกิดผื่นแดงขึ้นตามแนวยาวตามแนวปมประสาท มีอาการปวดแสบร้อนตามผิวหนัง หลังจากนั้นผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาจะตกสะเก็ด และหายเองภายใน 2 สัปดาห์
วิธีปฏิบัติตัว และการรักษาโรคงูสวัด
- รับประทานยาต้านไวรัส ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
- ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ชนิดทา หรือรับประทานร่วมด้วย
- หากมีอาการปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
- บรรเทาอาการปวดด้วยการประคบเย็น เช่น เจล หรือผ้าก๊อซชุบน้ำเย็น
- ไม่แกะ เกาบริเวณที่เป็นแผล
- ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
แนวทางการป้องกันโรคงูสวัด
- สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนงูสวัด* ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 50 และช่วยลดความรุนแรงของอาการหากเกิดโรคขึ้น กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค
* หมายเหตุ ถึงแม้ว่าโรคงูสวัด และอีสุกอีใสจะเกิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน แต่ไม่สามารถใช้วัคซีนชนิดเดียวกันได้ และวัคซีนของโรคงูสวัดมีความเข้มข้นกว่าวัคซีนโรคอีสุกอีใสมากถึง 14 เท่า ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้วัคซีนทดแทนกันได้
- ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นอีสุกอีใส หรืองูสวัด
งูสวัดต่างกับ อีสุกอีใสอย่างไร ?
|
อีสุกอีใส | งูสวัด |
เชื้อไวรัส |
วาริเซลลา (Varicella virus) | |
ช่วงวัย |
พบได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี |
คนที่เคยเป็นอีสุกอีใส อายุ 50 ปีขึ้นไป |
ตำแหน่งของผื่น |
มีตุ่มน้ำใสทั่วร่างกาย |
มีตุ่มน้ำใสตามแนวปมประสาท |
ความรุนแรง | มีอาการคันบริเวณที่มีผื่น |
ปวดแสบร้อนมากกว่า |
ภาวะแทรกซ้อนของ อีสุกอีใส
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใสมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่อวัยวะภายใน ไม่ว่าจะเป็น ปอด และสมอง ในขณะที่เด็กมักพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังบ่อยกว่า ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้
นอกจากอายุที่มีผลต่อความรุนแรงของโรคแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ
- หญิงตั้งครรภ์ หากมีการติดเชื้อช่วงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้
- ผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น คนไข้โรคเอดส์ คนไข้โรคมะเร็ง เนื่องจากเชื้ออาจจะเข้าไปสู่อวัยวะภายในได้
วิธีรักษาอีสุกอีใส
- เป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้
- หากมีไข้สูง ให้เช็ดตัว ทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล แต่ไม่ควรทานยากลุ่มแอสไพริน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- หากมีอาการคัน ให้ใช้ยาทาภายนอก เช่น คาลาไมน์ (Calamine Lotion) เพื่อลดอาการคัน ไม่แกะ เกา บริเวณที่เป็นแผลเพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่เย็นจัด หรือร้อนจัด อาบน้ำให้สะอาด ไม่ใช้สบู่ที่เป็นด่างจนเกินไป
- หากมีแผลในปาก ให้ลดอาหารรสจัด และใช้น้ำเกลือบ้วนปาก
สําหรับผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูง (ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน) เช่น หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ,ทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นโรคนี้ภายใน 5 วันก่อนคลอด หรือภายใน 2 วันหลังคลอด, ทารกที่คลอดก่อนกําหนด หรือทารกที่มีน้ําหนักตัวน้อยตั้งแต่ 1,000 กรัมลงไป จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
แนวทางการป้องกันโรค อีสุกอีใส
การฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้มากถึง 90-95% และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่วางแผนจะมีบุตรควรคุมกําเนิดหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เดือน
- เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 อายุ 2-4 ปี ควรฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน (ป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต)
- อายุ 13 ปีขึ้นไป (ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน) ควรฉีดวัคซีน 2 เข็มเช่นเดียวกัน และเข็มที่ 2 ควรห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน (ภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ อีสุกอีใส
-
เคยเป็น อีสุกอีใส แล้วจะเป็นอีกไหม ?
โดยทั่วไป ผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา หรือโรคอีสุกอีใสแล้ว มักจะสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อซ้ำได้สูงกว่าบุคคลทั่วไป
-
อีสุกอีใส กี่วันถึงจะไม่แพร่เชื้อ ?
ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนที่ผื่นจะขึ้นไปจนถึงตกสะเก็ด
-
จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีสุกอีใสไหม ?
“ควรฉีด” เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ถึงประมาณ 90-95% โดยในเด็กอายุ 1-12 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน สำหรับผู้ที่อายุเกิน 13 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน กรณีที่ไม่เคยฉีดวัคซีนในตอนเด็ก แต่เคยเป็นอีสุกอีใส ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว
สรุป
อีสุกอีใส (Chickenpox) คือ ไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง มีตุ่มน้ำใสขึ้นตามลำตัว และใบหน้า อาจมีไข้ร่วมด้วย ติดต่อได้ง่ายผ่านทางลมหายใจ รวมไปถึงการสัมผัสทั้งทางตรง และทางอ้อม สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเด็กจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า กลุ่มคนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, เด็กทารก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมีโอกาสป่วยเป็นโรคงูสวัดได้ เนื่องจากเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน โดยเชื้อจะซ่อนตัวอยู่ตามปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อที่แฝงตัวจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาทางผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นแดง ตามแนวเส้นประสาท โดยทั้ง 2 โรคนี้ สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคได้ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค
ที่มา
โรคอีสุกอีใส (chickenpox) จาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
โรคสุกใส จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคอีสุกอีใส ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นตามตัว จาก RAMA CHANNEL
ต้องดูแลอย่างไร เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส (1) จาก RAMA CHANNEL
ต้องดูแลอย่างไร เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส (2) จาก RAMA CHANNEL
อีสุกอีใส ภัยร้ายใกล้ตัว จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“อีสุกอีใส” อันตรายใกล้ตัว เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน จากโรงพยาบาลราชวิถี
งูสวัด ฝันร้ายของผู้สูงอายุ 50+ จาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
คำถามยอดฮิต โรคงูสวัด จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บทความเรื่อง ความแตกต่างระหว่างโรคเริม งูสวัด อีสุกอีใสและวัคซีนป้องกันสําหรับโรคงูสวัดและอีสุกอีใส จาก ภญ.อรพรรณ สุวรรณประดิษฐ์
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง