โรคหวัด โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส และมักจะเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ช่วงหน้าฝน หรือในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งวิธีการรักษาโดย่สวนใหญ่มักรักษาตามอาการที่แสดงแตกต่างกันไปแต่ละคน
แต่รู้หรือไม่? ความเชื่อเรื่องวิธีการรักษาบางประเภท ไม่ใช่วิธีการรักษาโรคหวัด ที่ถูกต้อง มิหนำซ้ำ ยังอาจทำให้อาการของ โรคหวัดเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่า ซึ่งความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคหวัด จะมีเรื่องอะไรกันบ้าง ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
อาการของ โรคหวัด
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหวัด มักมีอาการที่พบได้บ่อย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ อาจมีไข้ หรือมีอาการไอร่วมด้วย แต่โดยทั่วไป มักสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ จากภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละบุคคล เฉลี่ยภายใน 7-10 วัน
3 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษา โรคหวัด
1. วางก้อนน้ำแข็งบนท้ายทอย ช่วยให้หายจากโรคหวัด?
จริง ๆ แล้ว น้ำแข็งมีประโยชน์ในด้านการช่วยบรรเทาอาการบางอย่าง เช่น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ จากคอเคล็ด การนอนตกหมอน หรือช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวดในระยะช่วงเริ่มต้น แต่ น้ำแข็ง ไม่ได้มีสรรพคุณในการช่วยรักษาหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำน้ำแข็งวางบนท้ายทอยเพื่อรักษาอาการหวัด
2. การนำสำลีชุบแอลกอฮออล์วางบนสะดือ เพื่อรักษาโรคหวัด
หนึ่งในความเชื่อและข่าวแชร์ผิด ๆ ที่ว่า หากนำสำลีมาแช่ หรือชุบแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 50% เป็นต้นไป แล้วนะไปวางบนสะดือ จะช่วยรักษาโรคหวัด อาการไข้สูง ตัวร้อน อาการไอ อาการปวดท้อง หรือแม้กระทั่งช่วยเรื่องอาการปวดท้องประจำเดือนได้นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และไม่ได้ช่วยในด้านการรักษาโรคหวัดแม้แต่น้อย
3. ทานเบกกิ้งโซดา ช่วยให้หายจากไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่
ความเชื่อเรื่องการทานเบกกิ้งโซดาที่นำไปละลายน้ำ จะช่วยรักษาไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเบกกิ้งโซดา หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต คือส่วนผสมในการทำเบเกอรี่เท่านั้น ไม่มีผลต่อการรักษาโรคใด ๆ ทั้งสิ้น
การรักษาโรคหวัดเบื้องต้นที่ถูกวิธี✔
-
ดื่มน้ำมาก ๆ ในปริมาณที่เพียงพอแต่ละบุคคล
-
พักผ่อน นอนหลับให้เพียงต่อ
-
ใช้ยาสามัญประจำบ้านในการบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้ไอ
โรคหวัด คือ โรคสามัญที่สามารถหายได้ด้วยตัวเอง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7-10 วัน เพราะฉะนั้น ก่อนใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ตามอินเทอร์เน็ต หรือตามความเชื่อ จึงควรศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่าง เภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง
และหากอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการมีระดับความรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ อย่าลืมดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคภัยกันด้วยนะคะ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
-
(no date) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ). Available at: https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2053 (Accessed: October 28, 2022).