ถ้า อากาศร้อน 40 องศาเซลเซียส แล้วไปดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง ทันทีจะทำให้ หลอดเลือดระเบิดได้ รวมทั้งไปอาบน้ำ ล้างมือ ล้างหน้า ล้างเท้าด้วยน้ำเย็น ก็อันตรายด้วย จริงหรือไม่
ก่อนอื่น ขออธิบายถึงมนุษย์และอุณหภูมิ
ในร่างกายก่อนนะคะ
มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น นั่นหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สามารถรักษาอุณหภูมิร่างกาย ได้ค่อนข้างคงที่ ไม่ผันเปลี่ยนไป ตามสิ่งแวดล้อม และอุณหภูมิปกติของร่างกายคน คือ 36 – 37.5 องศาเซลเซียส และร่างกายจะมีการ รักษาสมดุลความร้อน ของร่างกายเอาไว้ คือเมื่อสภาพแวดล้อมมี อากาศที่ร้อน สมองจะสั่งการให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจะระบายความร้อน ออกจากตัวเรา ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “เหงื่อ” แต่หากสภาพแวดล้อม มีอากาศที่หนาวเย็น สมองจะสั่งให้หลอดเลือดหดตัว พร้อมทั้งสั่งให้กล้ามเนื้อ “สั่น” เพื่อให้ร่างกายอุ่นขึ้น
แล้วถ้าวันนี้ อากาศร้อน มากๆ เราจึงดื่มน้ำเย็นเข้าไป จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่เป็นอันตรายค่ะ เนื่องจากร่างกายเรามีกลไกในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้ใกล้เคียงกับ 37 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อเราดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็น และร่างกายรู้สึกว่ามันเย็นเกินไป สมองก็จะสั่งให้หลอดเลือดหดตัว สั่งให้กล้ามเนื้อสั่น เพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้กลับสู่ 37 องศาเซลเซียสนั่นเอง
แล้วทำไมเวลาดื่มน้ำเย็น เราอาจจะรู้สึกเย็นวาบไปตามหลอดอาหารถึงกระเพาะได้
นั่นก็เพราะเมื่อน้ำเย็นเข้าสู่ร่างกาย จะไปสัมผัสกับเยื่อบุทางเดินอาหารโดยตรง ร่างกายจึงรับรู้ได้ถึงความเย็นของน้ำ จากนั้นร่างกายก็จะรีบปรับอุณหภูมิของน้ำที่เราดื่มเข้าไปให้อยู่ในระดับเดียวกับร่างกาย
แต่สิ่งที่ต้องระวังจากการที่อากาศร้อนมากๆ คือ โรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งเกิดจากการที่เราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศร้อนมากๆ แล้วร่างกายระบายความร้อนในตัวไม่ทัน ไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายให้ใกล้เคียงกับ 37 องศาเซลเซียสได้ จนทำให้เกิดอาการตั้งแต่เล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย ขาดน้ำ มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ปวด มึนศีรษะ หน้าแดง ไปจนถึงมีอาการมากและเป็นอันตราย อันได้แก่ อาการกระสับกระส่าย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำมาก จนนำไปสู่อาการหมดสติ ชักและความดันโลหิตต่ำ ในขั้นสุดท้ายอาจเกิดไตวายและเสียชีวิตได้
ดังนั้น หากเราต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนมากๆ เราควร
– ช่วยถ่ายเทความร้อนให้กับร่างกาย ด้วยการสัมผัสสิ่งของที่เย็นกว่า เช่น ประคบเย็น
– ช่วยพาความร้อนออกไป เช่น การเปิดพัดลม การใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย หรืออาบน้ำ
– ดื่มน้ำ เพื่อชดเชยน้ำจากการสูญเสียเหงื่อ และป้องกันร่างกายช็อกจากการขาดน้ำ
อ้างอิง
1. ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช. (2557). ฮีทสโตรค…ร้อนตาย. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1113. ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564.
2. https://www.webmd.com/first-aid/normal-body-temperature#1. ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564.
3. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. (2020). อุณหภูมิร่างกายแค่ไหนเรียก “ปกติ”. https://www2.si.mahidol.ac.th/km/cop/support/healthbenefit/14476/. ค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564.
Open this in UX Builder to add and edit content