มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในชนิดของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทย โดยมักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ถึงประมาณ 100 เท่า ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบสาเกตุที่แน่ชัด แต่พบว่าโรคมะเร็งเต้านมนั้นมีแนวโน้มที่ป้องกันได้จากปัจจัยภายนอก อย่างการ ‘เลือกกิน’
โดยการ ‘เลือกกิน’ ในที่นี้ เพื่อเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของฮอร์โมน เพราะระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะเอสโตรเจน ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม หากมีฮอร์โมนเหล่านี้สูงเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมตามไปด้วย หรือสามารถอธิบายได้ว่า
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง = เสี่ยงสูง
วันนี้เอ็กซ์ต้า จึงจะขอพาทุกท่านมาเริ่มต้นกินอาหาร แบบ ‘โภชนบำบัด’ เพื่อป้องกันโรค มะเร็งเต้านม กันค่ะ
อาหารที่ควรทาน
ผัก ผลไม้
ที่อุดมไปด้วยสารพฤษเคมี ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านมะเร็งเต้านม ได้แก่
ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ – แครอท ฟักทอง คะน้า อะโวกาโด บร็อกโคลี่ ป่วยเล้ง มะเขือเทศ ส้มเขียวหวาน มะม่วง มะละกอสุก แคนตาลูป
ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารกลูโคซิโนเลท – กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี่
ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารไลมอนอยด์ – ส้มชนิดต่างๆ และมะนาว
ธัญพืช และเมล็ดถั่ว
อาหารประเภทถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วขาว ลูกเดือย ที่มีเส้นใยสูง ช่วยดูดซับไขมันในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลือง ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่สำคัญ คือ สารไอโซฟลาโวนอยด์
ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง – น้ำเต้าหู้ เต้าหู้
อาหารจากธัญพืช – ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีทไม่ขัดสี
กินอาหารให้หลากหลาย
ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งจะช่วยลดการสะสมของสารพิษที่ตกค้างในร่างกายได้
สีสันบนโต๊ะอาหาร – กินผัก ผลไม้หลากสี เพื่อคุณค่าที่หลากหลาย เนื่องจากผักแต่ละสีจะมีคุณสมับติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันไป
อาหารประเภทต้ม ทอด นึ่ง ผัด คละเคล้ากันไป – ควรสลับวิธีการปรุงอาหารเวียนกันไป เนื่องจากวิตามินบางชนิดสามารถละลายได้ดีในน้ำ หรือบางอย่างละลายได้ดีในไขมัน แต่ไม่ควร กินอาหารประเภทผัดหรือทอดบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายได้
อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหารที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ และอาหารกลุ่มแป้งที่ขัดสี การกินอาหารเหล่านี้ในจำนวนที่มากเกินไป ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
เมนูจากเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์ที่มีไขมันสูง – ไก่ทอด หมูทอด ข้าวมันไก่ กุนเชียง หมูยอ
เมนูอาหารอื่นๆ ที่มีไขมันสูง – มันฝรั่งทอด ผัดไทย หอยทอด ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ผัดซีอิ้ว แกงกะทิต่างๆ
เมนูขนมหวานอื่นๆ ที่มีไขมันสูง – เบเกอรี่ ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงจำนวนน้อย ก็เพิ่มความเสี่ยงในการก่อมะเร็งเต้านมได้ หรือคิดเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 10%
สารเคมีในอาหาร
เช่น สารเคมีจากยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ถือเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อนปรุงจึงควรล้างทำความสะอาดหลายครั้ง เพื่อลดสารเคมีที่ปนเปื้อน หรือสารเคมีที่เกิดจากเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง ส่วนที่ไหม้เกรียมนั้น ส่งผลต่อระดับฮอร์โมน จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง
ดังนั้น การหลีกเลี่ยง มะเร็งเต้านม ที่ดีที่สุด คือการเลือกกินให้ถูก ประกอบอาหารทานเองเพื่อควบคุมปริมาณไขมัน และออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30-60 นาที เพื่อช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม พร้อมพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยา หรืออาการภูมิแพ้ สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- (No date a) ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก – กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. Available at: https://hpc2service.anamai.moph.go.th/emedia/files/p//94_20150625140818.pdf (Accessed: 25 August 2023).
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง