การเลือกใช้ ยาคุมกำเนิด ชนิดเม็ดให้เหมาะสมกับตัวเอง เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เภสัชกรร้านยาพบมากที่สุด เนื่องจาก ยาคุมกำเนิด ชนิดเม็ดในท้องตลาดมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งยี่ห้อ จำนวนเม็ดยา และราคา บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Tips เล็ก ๆ ในการเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดกันค่ะ
ยาคุมกำเนิด ชนิดเม็ด มี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรายเดือน ที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ใช้สำหรับการคุมกำเนิด และเพื่อประโยชน์อื่น ๆ เช่น ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย สำหรับคนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือแม้กระทั่งใช้สำหรับรักษาสิว ส่วนอีกประเภท คือ ยาคุมกำเนิด ฉุกเฉินที่ใช้เฉพาะกรณีที่มีข้อผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีปกติ เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด ห่วงคุมกำเนิดหลุด หรือกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น
เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนและมีอาการข้างเคียงจากการใช้มากกว่า
ยาคุมกำเนิด ชนิดเม็ดแบบรายเดือน ยังคงแบ่งแยกย่อยได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progesterone-only oral contraceptive pills: POC)
ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดเดียว เหมาะสำหรับคนที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของการใช้เอสโตรเจนได้แก่คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะได้
2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pills: COC)
ประกอบด้วยฮอร์โมนสองชนิดคือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันที่ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือชนิดของโปรเจสเตอโรน ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักจะเป็นตัวเลือกแรก มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งสำหรับการคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อปรับฮอร์โมน
ขั้นตอนในการพิจารณาเลือกใช้ ยาคุมกำเนิด ชนิดเม็ดแบบรายเดือน
1. เลือกชนิดของฮอร์โมน
ควรใช้ชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหรือฮอร์โมนรวม โดยตัวเลือกแรกควรเป็นชนิดฮอร์โมนรวมยกเว้นคนที่มีข้อจำกัดที่ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่
- ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ที่สูบบุหรี่เป็นประจำวันละ 15 มวนขึ้นไป
- ผู้หญิงที่มีโรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก ไมเกรนชนิดมีออร่า หัวใจขาดเลือด ตับแข็ง มะเร็งตับ
- ผู้หญิงที่มีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน สโตรก โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูก
- ผู้หญิงให้นมบุตร
2. เลือกชนิดของโปรเจสเตอโรน
ผลของใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่นอกเหนือจากการคุมกำเนิด เช่น การลดสิว ไม่ทำให้บวมน้ำ เป็นต้น ฮอร์โมนโปรเจสเอตโรนในยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นแรก ๆ จะมีโครงสร้างใกล้เคียงกับฮอร์โมนเพศชาย จึงอาจทำให้ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ มีอาการข้างเคียงได้ เช่น หน้ามัน สิว ขนดกได้ แต่ยาคุมกำเนิดรุ่นใหม่มีการใช้โปรเจสเตอโรนที่พัฒนาใหม่ ที่ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ มีบางชนิดยังมีฤทธิ์แย่งจับกับฮอร์โมนเพศชาย จึงลดอาการแสดงจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป จึงสามารถใช้ลดสิวได้ นอกจากนี้การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดการสะสมของน้ำใต้ผิวหนังทำให้ดูผิวพรรณเต่งตึง บวมน้ำเป็นผลให้น้ำหนักขึ้นได้ ยาคุมกำเนิดรุ่นใหม่บางชนิดจะใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีผลทำให้เกิดการบวมน้ำ จึงไม่ทำให้น้ำหนักขึ้น
3. เลือกปริมาณเอสโตรเจน
ซึ่งมีความสำคัญมากในการลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยปริมาณเอสโตรเจนที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ แต่ถ้าใช้ปริมาณที่น้อยเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอยได้
4. เลือกจำนวนเม็ดยา
ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการรับประทานยา โดยยาเม็ดคุมกำเนิดมีทั้งชนิด 21 และ 28 เม็ด
a. ชนิด 21 เม็ดประกอบด้วยเม็ดฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด เหมาะสำหรับคนที่ไม่ความเสี่ยงที่จะลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาผิด โดยให้รับประทานยา 21 วัน หยุดใช้ยา 7 วัน หลังจากนั้นให้ขึ้นแผงใหม่ (วันที่ 8 หลังจากหยุดใช้ยา) โดยไม่ต้องใส่ใจว่าประจำเดือนว่าจะมาหรือหยุดในวันไหน
b. ชนิด 28 เม็ดที่ประกอบด้วยเม็ดฮอร์โมนและเม็ดแป้งหรือวิตามิน เหมาะสำหรับคนที่เสี่ยงจะลืมรับประทานยาคุมกำเนิด ให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ดทุกวัน เมื่อหมดเม็ดสุดท้าย วันถัดมาให้เริ่มแผงใหม่ได้ทันที
หลังจากเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดรายเดือนที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว ควรรับประทานยาทุกวันอย่างต่อเนื่องในเวลาเดิมของทุกวัน ไม่ลืมรับประทานยา และเริ่มแผงใหม่ให้ถูกต้อง และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อต้องรับประทานยาตัวอื่นในขณะที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดและลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ คุมกำเนิด หรือเรื่องสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- Oral contraceptive pills – statpearls – NCBI bookshelf (no date). Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430882/ (Accessed: February 9, 2023).
- Radoslaw Slopien, Use of oral contraceptives for management of acne vulgaris and hirsutism in women of reproductive and late reproductive age, Prz Menopauzalny.2018 Mar; 17(1): 1–4.
- Medical eligibility criteria for contraceptive use, 5th edition. 2015
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง