ชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ หรือ ชุดตรวจตั้งครรภ์ (Pregnancy Test Kit) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่พบได้ทั่วไปในท้องตลาด ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ ว่าสามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้อย่างไร รวมถึงเลือกชนิดได้และใช้ได้อย่างถูกต้อง
ชุดตรวจตั้งครรภ์ จะตรวจหาฮอร์โมนเอซซีจี (Human Chorionic Gonadotropin , hCG) ที่อยู่ในรก โดยฮอร์โมน hCG สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์และยังตรวจพบได้ในปัสสาวะ การตรวจสอบการตั้งครรภ์จึงมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ คือ การตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้
1. การตรวจเลือด
ซึ่งต้องทำที่โรงพยาบาล คลินิกและแปลผลโดยนักเทคนิคการแพทย์ การตรวจการตั้งครรภ์โดยวิธีนี้ จะใช้เวลารอฟังผลประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่จะมีความแม่นยำสูงมากถึง 100%
2. การตรวจปัสสาวะ
เป็นการตรวจที่พบได้ทั่วไปและสามารถซื้อชุดตรวจได้ตามท้องตลอด เป็นวิธีที่สะดวก สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง เห็นผลลัพธ์รวดเร็วภายใน 15 นาที และยังมีความแม่นยำสูงถึง 99% โดยชุดตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง มีอยู่ 3 ชนิดให้เลือกตามวิธีการตรวจ ได้แก่
a. แบบปัสสาวะผ่าน หรือแบบปากกา โดยชุดตรวจจะเป็นแท่งเหมือนปากกา เมื่อต้องการใช้ ให้เปิดฝาครอบแผ่นเก็บปัสสาวะออก แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ใช้เก็บปัสสาวะให้ชุ่ม แล้วรอผลการทดสอบประมาณ 3-5 นาที ข้อดีของชุดตรวจปัสสาวะแบบนี้คือใช้ง่าย สะดวก ไม่ต้องเก็บปัสสาวะใส่ถ้วยตวงใด ๆ เพียงแค่ปัสสาวะผ่านแถบเก็บปัสสาวะเท่านั้นแล้วรออ่านผลลัพธ์
b. แบบจุ่ม โดยในกล่องจะมีแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยเก็บปัสสาวะ เมื่อต้องการตรวจตั้งครรภ์ ให้เก็บปัสสาวะใส่ถ้วย และนำแผ่นทดสอบจุ่มในถ้วยตวงที่มีปัสสาวะบรรจุ รอจนแผ่นทดสอบเก็บปัสสาวะจนชุ่มแล้วนำออกมารอผลลัพธ์ประมาณ 5 นาที
c. แบบหยด ซึ่งในกล่องจะมีอุปกรณ์ 3 ชนิดคือ ถ้วยเก็บปัสสาวะ ตลับตรวจตั้งครรภ์ และหลอดหยด เมื่อต้องการตรวจการตั้งครรภ์ ให้ปัสสาวะใส่ถ้วย หลังจากนั้นใช้หลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะ และนำไปหยดในตลับตรวจตั้งครรภ์ รออ่านผลประมาณ 5 นาที
การเลือกชนิด ชุดตรวจตั้งครรภ์ ด้วยตนเอง
ชุดตรวจตั้งครรภ์ ด้วยตนเองแต่ละชนิด มีความแม่นยำพอๆ กัน คือประมาณ 99% เมื่อใช้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้ใช้งานสามารถเลือกชนิดที่ต้องการได้ โดยแต่ละชนิดจะมีข้อดีที่แตกต่างกัน เช่น ชุดตรวจตั้งครรภ์แบบปัสสาวะผ่านจะมีความสะดวกในการใช้งานมากที่สุด เนื่องจากไม่ต้องเก็บปัสสาวะใส่ถ้วยตวง ในขณะที่แบบหยดและแบบจุ่มจะมีราคาที่เข้าถึงง่ายมากกว่า
วิธีการอ่าน ชุดตรวจตั้งครรภ์
การอ่านผลการตั้งครรภ์ จะดูได้จากแถบสีบนชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งการแปลผลจะดูที่จำนวนแถบสีที่ขึ้น นอกจากนี้บนชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัว คือ C และ T โดย C (Control) คือ แถบสีที่ต้องขึ้นทุกครั้งที่มีการทดสอบ ถึงแม้ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม และ T (Test) คือ ผลการทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งจะขึ้นเมื่อมีการตั้งครรภ์
การอ่านผลลัพธ์ สามารถอ่านได้ดังนี้
ขึ้นแถบสี 2 แถบทั้งที่ตัว C และตัว T แสดงว่าตั้งครรภ์
ขึ้นแถบสี 1 แถบที่ตัว C แสดงว่าไม่ตั้งครรภ์
ขึ้นแถบสี 1 แถบที่ตัว T แสดงว่าผลการทดสอบผิดพลาด ให้ทำการทดสอบใหม่
ไม่ขึ้นแถบสีเลย แสดงว่าผลการทดสอบผิดพลาด ให้ทำการทดสอบใหม่
คำถามที่พบบ่อย เมื่อใช้ชุดตรวจตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
Q1 : ถ้าขึ้นแถบ 2 ขีด หมายถึงท้อง 100% เลยใช่หรือไม่
A1 : ถึงแม้ว่าชุดตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเองจะมีความแม่นยำถึง 99% แต่ก็เป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ใช้งานยังคงต้องยืนยันการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจเลือดที่โรงพยาบาล
Q1 : ถ้าขึ้นแถบจางๆ ที่ตัว T แสดงว่าไม่ท้อง
A1 : การที่มีแถบขึ้นที่ตัว T (และมีแถบที่ตัว C) เป็นไปได้ว่าตรวจพบฮอร์โมน hCG แต่ปริมาณอาจน้อยมาก ซึ่งแสดงว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ สิ่งที่ควรทำคือ รออีก 7 วัน แล้วตรวจซ้ำ โดยเลือกตรวจกับปัสสาวะแรกหลังจากที่ตื่นนอน เนื่องจากมีความเข้มข้นของฮอร์โมนสูงที่สุดหรือหากอยากได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่านั้น สามารถทำได้โดยการตรวจเลือกที่โรงพยาบาล
Q1 : ตื่นนอนเวลา 11 โมง แต่ในชุดตรวจให้ใช้กับปัสสาวะตอนเช้า ควรทำอย่างไร
A1 : ควรตรวจโดยใช้ปัสสาวะแรกหลังจากตื่นนอน เพราะจะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนมากที่สุด กรณีที่ตื่นนอน 11 โมงเช้า ก็สามารถตรวจได้ด้วยปัสสาวะแรกหลังจากตื่นนอนได้เช่นกัน
Q1 : สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้เร็วที่สุดแค่ไหน
A1 : สามารถใช้ชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้ ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนขาดไป และถ้าหากผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน ให้ตรวจซ้ำ 7 วันหลังจากที่ตรวจในครั้งแรก
ดังนั้น หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิดหรือการใช้ชุดตรวจตั้งครรภ์ สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส หรือปรึกษากับเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ แอปพลิเคชัน ALL PharmaSee ปรึกษาฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วมาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ👩🏻⚕️💙
- Gnoth, S. Johnson. Strips of Hope: Accuracy of Home Pregnancy Tests and New Developments. National Library of Medicine. Geburtshilfe Frauenheilkd. 2014 Jul; 74(7): 661–669.
- (No date) NHS choices. Available at: https://www.nhs.uk/pregnancy/trying-for-a-baby/doing-a-pregnancy-test/ (Accessed: 26 January 2024).
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง