อาการไอ เจ็บคอ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้จะมีสาเหตุของอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยอาการไอ เป็นอาการเจ็บป่วยที่อาจไม่รุนแรงมากนัก บางคนจึงเลือกวิธีการรักษาเบื้องต้นด้วยการซื้อยามาทานอย่าง ยาแก้ไอมะขามป้อม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในการใช้บรรเทาอาการไอ โดยยาแก้ไอมะขามป้อม ออกฤทธิ์อย่างไร ช่วยได้จริงหรือไม่
บทความนี้ ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส จึงมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ ยาแก้ไอมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ ได้จริงหรือ ? มาแบ่งปันกัน
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาแก้ไอ
ยาแก้ไอ เป็นเพียงยาที่ใช้บรรเทาอาการไอ ซึ่งไม่ใช่ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไอ โดยจะใช้สำหรับการลดความรำคาญที่เกิดจากอาการไอ โรคที่ส่งผลให้เกิดอาการไอ เช่น
- หลอดลมอักเสบ และ ปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้มีอาการไอ มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เมื่ออาการดีขึ้น อาการไอก็จะทุเลาลงเอง
- อาการภูมิแพ้ จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ควัน หรือกินยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการไอ
อาการไอ มักเป็นสิ่งที่กวนใจในการใช้ชีวิต บางครั้งก็อาจไอรุนแรงจนทำให้เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง รวมไปถึงการถูกรบกวนการนอนหลับ และเกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอตามมา อีกทั้งยังส่งผลที่ไม่ดีต่อบุคลิกภาพ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนทั่วไปจึงนิยมกินยาแก้ไอทันทีที่เมื่อมีอาการ
ลักษณะทั่วไปของสมุนไพรยาแก้ไอมะขามป้อม
สมุนไพรมะขามป้อม (Phyllanthus Emblica) ได้มีการจดสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่ามะขามป้อมมีสรรพคุณในการแก้หวัด แก้ไข้ ไอ รวมถึงอาการ เจ็บคอ ปากคอแห้ง โดยผลของมะขามป้อมจะมีวิตามินซีสูง พบว่ามะขามป้อม 1 ผล มีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่าที่มีในผลส้ม 1-2 ผล ซึ่งน้ำของผลมะขามป้อมโตเต็มที่จะเป็น ส่วนที่นำมาทำกลุ่มยาขับเสมหะ ยาแก้ไอมะขามป้อม
ลักษณะของมะขามป้อม
- ต้น มะขามป้อมเป็นไม้ยืนต้น สูง 8 – 12 เมตร
- ผล มีลักษณะกลม ขนาดเส้นศูนย์กลางประมาณ 1.2 – 2 เซนติเมตร ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน
ผลแก่จะมีสีเขียวค่อนข้างใสและมีเส้นริ้ว ๆ - ดอก มีดอกเล็ก สีขาวนวล ออกดอกตามง่ามใบ 3-5 ดอก
- ใบ เป็นช่อเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานติดเป็นคู่ ๆ เยื้อง ๆ กัน กว้าง 1- 5 มิลลิเมตร
ยาว 4-15 มิลลิเมตร ปลายใบมน มีรอยหยักเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ
ยาแก้ไอมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ ได้จริงไหม
ยาแก้ไอมะขามป้อม มีส่วนช่วยบรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ ตามตำรายาไทยเชื่อว่าของที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดช่วยละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดี เนื่องจาก มะขามป้อม จัดเป็นสมุนไพรเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง ประกอบกับมีการศึกษาพบว่าใน มะขามป้อมมีสารที่ละลายน้ำได้ และมีฤทธิ์ละลายเสมหะ โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการพัฒนายาแก้ไอมะขามป้อมขึ้นทะเบียนยาเป็นยาแผนโบราณ เป็นที่นิยมของทั้งผู้ใช้ยาและแพทย์
เมื่อไหร่ที่ควรทานยาแก้ไอมะขามป้อม
ควรจิบ ยาแก้ไอมะขามป้อม หรือ ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม เมื่อมีอาการไอ ให้จิบทุก 4 ชั่วโมง มะขามป้อมมีสารที่มีฤทธิ์แก้ไอ ละลายเสมหะ ทั้งนี้ควรรักษาต้นเหตุของการไอควบคู่ไปด้วย
สูตรยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (พ.ศ. 2556)
ลักษณะยา: ยาน้ำ (รพ.)
สูตรตำรับที่ 1 ในยาน้ำ 100 มิลลิลิตร ประกอบด้วย
สารสกัดน้ำมะขามป้อมเข้มข้น (ความเข้มข้น 40%) | 60 มิลลิลิตร |
สารสกัดใบเสนียด (ความเข้มข้น 10%) | 10 มิลลิลิตร |
กลีเซอรีน | 5 มิลลิลิตร |
สารสกัดรากชะเอมเทศ | 0.45 มิลลิลิตร |
เกลือแกง | 0.5 กรัม |
เกล็ดสะระแหน่ | 0.01 มิลลิกรัม |
สูตรตำรับที่ 2 ในยาน้ำ 100 มิลลิลิตร ประกอบด้วย
สารสกัดน้ำมะขามป้อมเข้มข้น (ความเข้มข้น 25%) | 30 มิลลิลิตร |
มะนาวดองแห้ง | 8 มิลลิกรัม |
สารสกัดรากชะเอมเทศ | 5 มิลลิลิตร |
ผิวส้มจีน | 3.3 มิลลิกรัม |
บ๊วย | 3 มิลลิกรัม |
เนื้อลูกสมอพิเภก | 3 มิลลิกรัม |
เนื้อลูกสมอไทย | 1 มิลลิกรัม |
หล่อฮั่งก๊วย | 2 มิลลิกรัม |
เกล็ดสะระแหน่ | 0.08 มิลลิกรัม |
น้ำตาลทรายแดง | 40 มิลลิกรัม |
ข้อแนะนำในการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม
- เขย่าขวดก่อนใช้ยา
- ให้จิบทุก 4 ชั่วโมง
- ควรเก็บเก็บรักษาในที่แห้ง หรือ อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25 องศา และห่างจากแสงแดดและความร้อน
ข้อควรระวังสำหรับยาแก้ไอมะขามป้อม
1. ควรระวังการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม ในผู้ป่วยเบาหวาน
เนื่องจากในยาแก้ไอมะขามป้อมมีส่วนประกอบของน้ำตาล หรือน้ำผึ้ง อาจส่งผลต่อค่าเบาหวานที่สูงขึ้น จึงควรระวังการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม ในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
2. ควรระวังการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อม ในผู้ที่มีอาการท้องเสียง่าย
ยาแก้ไอมะขามป้อม มีสรรพคุณของ มะขามป้อมซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
3. ไม่แนะนำให้ใช้ ยาแก้ไอมะขามป้อมในเด็ก
หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อมในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
การทานยาแก้ไอมะขามป้อมเป็น วิธีการบรรเทาอาการไอให้ทุเลาลงได้ โดยควรรักษาโรคหรือสิ่งที่เป็นสาเหตุ หรือปรับพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดอาการไอ จะเป็นแนวทางในการรักษาอาการไอที่ได้ผลดี
ที่มา:
ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (พ.ศ.2556) จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สมุนไพรแก้ไอ จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มะขามป้อม สมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม จาก หมอชาวบ้าน
ใช้ยาแก้ไอผิดเพิ่มโรคให้ตัวเอง จาก หมอชาวบ้าน
ยาแก้ไอมะขามป้อม จาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์