ช่วงฝุ่นพิษระบาด อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นช่วงที่ผู้ป่วยภูมิแพ้ทางจมูก หรือ ภูมิแพ้ผิวหนังหลายคน ต้องรับประทาน ยาแก้แพ้ ต่อเนื่องยาวนานหลายวัน (บางคนนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน)
จึงมักจะมีคำถามว่า “คุณเภสัชคะ ดิชั้นกิน ยาแก้แพ้ ต่อเนื่องนานขนาดนี้ มันจะมีอันตรายไหมคะ? มันจะสะสมในร่างกายไหมคะ? หยุดกินบ้างได้ไหมคะ?”
คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับ “ความรุนแรงของอาการ” และ “ชนิดของยา” ที่ใช้ค่ะ
“ความรุนแรงของอาการ” – ถ้าผู้ป่วยกำลังแวดล้อมไปด้วยสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไรฝุ่น, ขนสัตว์, เกสรดอกไม้, หมอกควัน และยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร่างกายก็ย่อมแสดงอาการต่างๆแน่นอน…กรณีนี้ถ้าไม่ใช้ยาก็คงทรมานมาก และอาจส่งผลเสียร้ายแรงขึ้นไปเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นได้เช่นกัน เช่น ไซนัสอักเสบ, โรคหืด, หลอดลมไว เป็นต้น
ดังนั้นควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามปกติ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตามนะคะ..จากนั้นแพทย์หรือเภสัชกร จะมีหลักเกณฑ์เครื่องมือช่วยประเมินผู้ป่วยให้เองว่าควรลดหรือเพิ่มระดับการรักษาอย่างไร
“ชนิดของยา” – แต่ละรุ่นมีข้อมูลความปลอดภัยที่แตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างยาที่ผู้ป่วยได้รับบ่อยสักกลุ่มนึง คือ “ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน” (Oral Antihistamine) หรือ เรียกง่ายๆทั่วไปคือ “ยาแก้แพ้”
“ยาแก้แพ้” ถูกคิดค้นครั้งแรกโดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศสในปี คศ.1937 เพื่อช่วยป้องกัน “ภาวะแพ้แบบรุนแรง” ที่เรียกว่า “Anaphylactic Shock” แต่ก็มีพิษต่อระบบอื่นๆในร่างกายสูง จึงยังไม่ถูกนำมาใช้แพร่หลาย
5 ปี ถัดมา ในคศ.1942 โมเลกุลนี้ก็ถูกพัฒนาต่อมาจนได้เป็น “ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1” เช่น ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine ยาแก้แพ้เม็ดเหลืองที่หลายคนคุ้นชิน) นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายตัว ได้แก่ Diphenhydramine, Triprolidine, Hydroxyzine, Cyproheptadine, Promethazine, Ketotifen
ยาแก้แพ้รุ่นนี้ลดน้ำมูกได้ดี แต่ต้านอาการแพ้ได้ไม่ดีเท่าไหร่ เลยถูกใช้น้อยในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และมักเจอปัญหาอาการข้างเคียง ได้แก่ ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ซึ่งส่งผลรบกวนชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ ทำงานกับเครื่องจักร และผู้สูงอายุที่มักจะเกิดอาการเหล่านี้มากกว่าคนวัยหนุ่มสาว จึงถูกควบคุมการขายในร้านยาให้จ่ายได้ในปริมาณจำกัด
ต่อมาจึงมีการพัฒนา “ยาแก้แพ้รุ่น2” ออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงในข้างต้น โดยทำให้ตัวยาไม่ผ่านเข้าสู่สมอง พบอาการง่วงน้อยมากจนถึงไม่ง่วง เช่น Loratadine, Ebastine, Cetirizine, Rupatadine เป็นต้น
จนถึงปัจจุบันนี้ก็มี “ยาแก้แพ้รุ่นที่3” ที่ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นให้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยลดการคัดแน่นจมูกจากภูมิแพ้ รวมถึงบรรเทาลมพิษได้ และมีความปลอดภัยสูง ไม่รบกวนการทำงานของตับ ไม่มีผลต่อหัวใจ ไม่ผ่านเข้าสมอง สามารถใช้ได้แม้ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน เช่น Desloratadine เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่า “ยา” ก็คือสารเคมีที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ถึงแม้จะเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงอย่างไร ผู้ป่วยก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยนะคะ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
(1) J. Bousquet, et al. Next-generation Allergic Rhinitis and Its Impact on Asthma (ARIA) guidelines for allergic rhinitis based on Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation (GRADE) and real-world evidence. J Allergy Clin Immunol. 2020 Jan;145(1):70-80. e3.
(2) C.R. Ganellin. Antihistamine drug. https://www.britannica.com/science/antihistamine. (สืบค้นวันที่ 15 ธค. 2564)
(3) ปารยะ อาศนะเสน. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “โรคภูมิแพ้ และยาต้านฮิสทามีน”. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1175 (สืบค้นวันที่ 15 ธค. 2564)