เมื่อไหร่ก็ตามที่ตรวจพบไขมันในเลือดสูง เราต้องหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมากมาย เนื่องจากระดับไขมันในเลือดนั้นส่งผลโดยตรงกับการทำให้หลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ดังนั้นผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ไขมันถูกแบ่งได้เป็นหลายประเภท โดยการตรวจไขมันในเลือด ได้แก่
คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
เป็นไขมันชนิดที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป พบมากในไขมันสัตว์ คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือดในอนาคต โดยมีคอเลสเตอรอล 2 ชนิดที่ควรทำความรู้จักไว้ ได้แก่
- Low–density lipoprotein (LDL)
เป็นไขมันชนิดอันตรายเพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เกิดโรคที่คุ้นหูกันดี ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบด้วยเหตุนี้ LDL ในบางครั้งจึงถูกเรียกว่าเป็น “ไขมันชนิดไม่ดี”
- High–density lipoprotein (HDL)
เป็นไขมันดี ทำหน้าหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ กลับไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลง ด้วยเหตุนี้เอง HDL จึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไขมันชนิดดี”
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เป็นไขมันที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากนี้ ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ หากใครที่มีทั้งไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลประเภท LDL สูง ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น
ใครบ้างที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด
สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หากมีความเสี่ยงคือ สูบบุหรี่ อ้วน คือมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 มีความดันสูง หรือมีญาติสายตรงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เช่น หัวใจ หรือขา ควรตรวจทุก 1 ปี หากเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงควรตรวจทุก 5 ปี
ภาวะไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร ?
- กรรมพันธุ์
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
- โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
- โรคตับ โรคไตบางชนิด
- ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
- การตั้งครรภ์
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดการออกกำลังกาย
ข้อควรปฏิบัติ เมื่อไขมันในเลือดสูงเลือด
1. ดูแลเรื่องอาหาร
ควบคุมอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล อาหารที่มีกะทิ หากเป็นผู้ที่มีทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ควรระวังอาหารพวกแป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด อาหารทอด แนะนำให้หันมารับประทานเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย และเพิ่มอาหารประเภทผักและผลไม้โดยเฉพาะชนิดที่มีไฟเบอร์ เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น
2. ออกกำลังกาย
แนะนำการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน เพราะจะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดได้ ควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 40 นาที
3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมอื่นๆ
เลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ไขมันไปสะสมตามเนื้อเยื่อ และควรงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด