สาเหตุของโรค
เกิดจากความผิดปกติของลิ้นเล็กๆ ในหลอดเลือดดำเสื่อมประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถนำพาเลือดกลับขึ้นสู่หัวใจได้ ทำให้เกิดการคั่งค้างของเลือดที่บริเวณขา และทำให้แรงดันในเส้นเลือดสูงขึ้นจนทำให้เส้นเลือดขดงอ กลายเป็นเส้นเลือดขอดในที่สุด โดยมีขนาดตั้งแต่ 1-3 มิลลิเมตร จนใหญ่หลายเซนติเมตร
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเลือดมีการเสื่อมสภาพ โดย 70% ของผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดมักเป็นผู้สูงอายุ
- เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า ซึ่งมีผลมาจากการตั้งครรภ์ ภาวะหมดประจำเดือน และฮอร์โมนเพศ
- พันธุกรรม และเชื้อชาติ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อนจะมีโอกาสมากถึง 2 เท่า ที่จะเป็น และพบมากในกลุ่มคนตะวันตก
- อาชีพ อาชีพที่ต้องยืน หรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น ทหาร แพทย์ ครู เป็นต้น
- ผู้มีน้ำหนักเกิน หรือตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก มักมีความดันในช่องท้องสูง จนไปกดหลอดเลือด รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงตั้งครรภ์ ก็มีส่วนทำให้หลอดเลือดดำเสียความยืดหยุ่นด้วย
- ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายขาดการเคลื่อนไหว ทำให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเหตุให้เลือดที่ขาไหลเวียนไม่ดี
แนวทางในการดูแลตนเอง
- หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรเหยียดขา ลุกเดิน หรือหมุนข้อเท้า เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี
- ไม่นั่งไขว่ห้าง เพราะทำให้เลือดเดินได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการกดทับขาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า
- ควรนอนให้ขาสูงกว่าระดับหน้าอก เพื่อให้เลือดกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น
- ควรใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดตลอดทั้งวัน ยกเว้นตอนนอน
- งดใส่รองเท้าส้นสูง เพื่อให้ขาไม่เกร็ง และเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงอาหารเค็มเพื่อป้องกันอาการปวดบวม
สำหรับการรักษามีตั้งแต่แบบไม่เจ็บตัวไปจนถึงการผ่าตัด เพราะฉะนั้นหากเริ่มเป็นแรกๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน เส้นเลือดขอดสามารถกลับมาเป็นได้อีก แต่หากดูแลตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ร่วมกับการรักษาของแพทย์ ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและมั่นใจ ใส่กางเกงขาสั้นโชว์เรียวขาสวยได้แน่นอนค่ะ