โรคไข้ป่าที่เรารู้จักกันดีในชื่อ โรคมาลาเรีย (Malaria) ไข้มาลาเรีย, ไข้จับสั่น, ไข้ป้าง, ไข้ร้อนเย็น หรือไข้ดอกสัก เป็นโรคที่พบมากในพื้นที่แถบร้อน บริเวณที่มีป่าเขาและแหล่งน้ำ แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะสามารถควบคุมโรคมาลาเรียให้ลดลงได้แล้วในประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นโรคที่อันตรายที่ทุกคนควรทำความรู้จักไว้เพื่อจะได้ถึงรู้วิธีการป้องกันอย่างถูกต้อง
สาเหตุของโรคมาลาเรีย
โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium) โดยมีพาหะนำโรคคือ ‘ยุงก้นปล่องเพศเมีย’ มักพบได้ในหลายพื้นที่ เนื่องจากยุงก้นปล่องแต่ละชนิดมีแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน พื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษได้แก่ แอ่งน้ำนิ่งขังตามธรรมชาติ ป่าทึบ ทุ่งนา สวนผลไม้ ชายป่าเชิงเขา ที่ราบที่มีแหล่งน้ำลำธารไหลผ่าน รวมถึงแถบชายทะเล โดยเฉพาะตามบริเวณฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย
อาการของโรคมาลาเรีย
อาการผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียจะไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ คล้ายเป็นหวัดทั่วไป คือ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด แต่อาการที่เด่นชัดของไข้มาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะ คือ
1. ระยะหนาว
ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ปากและตัวสั่น ซีด ผิวหนังแห้งหยาบ ใช้เวลาประมาณ 15-60 นาที ซึ่งเป็นระยะการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรีย
2. ระยะร้อน
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อาจมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย ตัวร้อนจัดหน้าแดง กระหายน้ำ
3. ระยะเหงื่อออก
ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกจนเปียกชุ่มร่างกาย หลังจากระยะเหงื่อออก ร่างกายจะอ่อนเพลียและหายไข้ กลับเหมือนคนปกติ
ภายหลังที่เป็นมาลาเรียได้ระยะหนึ่ง จะตรวจพบว่าผู้ป่วยบางคนมีตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและม้ามโต บางรายกดเจ็บ ถ้าเม็ดเลือดแดงแตกมากๆ จะพบว่าผู้ป่วยมีปัสสาวะดำ
การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
1. สวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายให้มิดชิด โดยเลือกใช้เสื้อผ้าสีอ่อนหรือโทนสว่างเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด
2. ติดอุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น มุ้ง มุ้งลวด ในจุดที่ยุงอาจจะเข้าตัวบ้าน
3. ทำลายแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันยุงเพาะพันธุ์ เช่น น้ำขังในยางรถยนต์ น้ำขังนอกบ้าน ส่วนแหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้ เช่น โอ่งน้ำ ถังน้ำ ควรหาภาชนะมาปิดฝาให้เรียบร้อย
4. หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรทายากันยุง ทุกๆ 4 ชั่วโมง
5. ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันโรคมาลาเรีย ในกรณีที่ต้องเดินป่าที่เป็นแหล่งระบาดของโรค เนื่องจากเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยดื้อต่อยาหลายขนาน การกินยาเพื่อป้องกันจึงเป็นเพียงแต่กดอาการไว้เท่านั้น เมื่อหยุดกินยาเชื้อจะออกมาในกระแสเลือดและเกิดอาการของโรคได้อีก เพราะฉะนั้นจึงควรเน้นไปที่การป้องกันตัวเองไม้ให้ยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด
6. ในกรณีที่กลับออกมาจากแหล่งระบาดหรือในพื้นที่ที่มีคนเคยติดเชื้อมาลาเรียแล้ว 7-14 วัน หรือ ภายใน 1-2 เดือน หากพบว่าตัวเองมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้มาลาเรีย ห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่แหล่งระบาดของโรคมาลาเรียเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง อาจต้องกินยาป้องกัน แต่ก็ไม่สามารถรับรองผลการป้องกันได้ 100% แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกยาที่เหมาะสม