มีผู้ป่วยหลายคนเข้าใจว่า โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะกำเริบเฉพาะเวลาที่ออกนอกบ้านเมื่อเจอฝุ่นควัน หรือเมื่อฝนตกอากาศเย็นเท่านั้น.. ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อน จึงไม่ได้เตรียมยาแก้แพ้ไว้ให้พร้อม หรือไม่ได้ล้างจมูกเป็นประจำเพราะคิดว่าไม่จำเป็น แต่ที่จริงแล้ว สารก่อภูมิแพ้ นั้น ก็มีในบ้านของเราเช่นกัน
โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ที่เกิดจาก สารก่อภูมิแพ้ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
-
เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล (Seasonal Allergic Rhinitis)
-
เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นได้ตลอดปี (Perennial Allergic Rhinitis)
เชื่อหรือไม่คะว่าคนไทยกว่าครึ่ง มีอาการภูมิแพ้ชนิดที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ..สาเหตุหนึ่งเพราะ สารก่อภูมิแพ้ ที่ไวต่อคนไทย ส่วนใหญ่เป็น สารก่อภูมิแพ้ ที่กระจายอยู่เต็มไปหมดภายในบ้าน และในอาคาร!!
ในบรรดาสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย สารก่อภูมิแพ้ อันดับหนึ่งของคนไทย คือ “ไรฝุ่น” (ซึ่งมีสูงถึง71%)..
..รองลงมาคือ “แมลงสาบ” และ “ฝุ่นในบ้าน”ตามลำดับ ห้องแอร์ ที่นอน โซฟา ผ้าห่ม จึงกลายเป็น แหล่งสะสม สารก่อภูมิแพ้ ที่คนไทยต้องเผชิญทุกวัน ก่อให้เกิดโรคมากมายทั้ง เยื่อบุจมูกอักเสบ ลมพิษ หอบหืด เป็นต้น
ซึ่งถ้าหากว่าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรน, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ
นอกจากนี้ งานวิจัยโดยแพทย์ยังพบอีกว่า แม้แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตในอาคารเป็นส่วนใหญ่ ก็มีความเสี่ยงกับอันตรายจากฝุ่นจิ๋วหรือเ PM 2.5 เช่นกัน เพราะปริมาณ PM2.5 ในอาคารมีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นในสภาพแวดล้อมด้วย หมายความว่าถ้าภายนอกอาคารฝุ่นหนา โอกาสที่ฝุ่นภายในอาคารจะสูงก็มีมากตามไปด้วย
ดังนั้น การควบคุมโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดี ควรทำควบคู่ไปกับการขจัด สารก่อภูมิแพ้ ในบ้านด้วย ซึ่งพี่เภสัชกรใจดีขอแนะนำวิธีง่ายๆต่อไปนี้ค่ะ
วิธีง่ายๆ ในการขจัด สารก่อภูมิแพ้ ในบ้าน
กำจัดไรฝุ่น
-
ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน
-
ใช้เครื่องนอนชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ หลีกเลี่ยงใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ หลีกเลี่ยงการใช้พรมปูพื้น เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า นอกจากนี้ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น
-
ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น
-
ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ และแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
-
ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ
ป้องกันแพ้สัตว์เลี้ยง
-
หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน
หลีกเลี่ยงเชื้อรา
-
พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้านเพื่อป้องกันเชื้อรา และไม่ควรนำต้นไม้และดอกไม้ทั้งสด หรือแห้งไว้ในบ้าน
กำจัดแมลงสาบ
-
จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ
การเลือกใช้ยาแก้แพ้ที่ควรเลือกใช้สำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ที่มีอาการตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการคัดแน่นจมูกหรือลมพิษ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในคนไทย ควรเลือกยารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีและมีปลอดภัยในระยะยาว ทั้งยารับประทานและยาพ่นจมูก เช่น Desloratadine (เดส-ลอราทาดีน), Mometasone Furoate (โมเมทาโซน ฟูโรเอต) เป็นต้น

หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
(1) “ทำอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้”. ปารยะ อาศนะเสน, ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=532 สืบค้นวันที่ 9กพ.2565
(2) C. Bunnag, et al. Epidemiology and Current Status of Allergic Rhinitis and Asthma in Thailand- ARIA Asia-Pacific Workshop Report. ASIAN PACIFIC JOURNAL OF ALLERGY AND IMMUNOLOGY (2009) 27: 79-86.
(3) S. Oncham, et al. Skin prick test reactivity to aeroallergens in adult allergy clinic in Thailand: a 12-year retrospective study. Asia Pac Allergy. 2018 Apr;8(2):e17
(4) M. Sompornrattanaphan, et al. The Contribution of Outdoor Fine Particulate Matter to Indoor Air Quality in Bangkok Metropolitan Region, Thailand – Are Indoor Dwellers Safe. Siriraj Med J 2018;70: 265-271.