การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษสำหรับทุกเพศทุกวัย ยิ่งในผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ยิ่งต้องออกกำลังกายให้มาก แต่การออกกำลังกายควรควบคุมให้อยู่ในความพอดี แล้วประมาณไหนถึงเรียกว่าพอดี เรามีคำตอบมาฝากค่ะ โดยเน้นโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะถึง 4 โรคด้วยกัน
- โรคหัวใจ
คำแนะนำ:
– ควรเล่นกีฬาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ควรออกกำลังกายเบาๆ และเมื่อรู้สึกเหนื่อย และแน่นหน้าอกควรหยุดพักทันที
– ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล ยกน้ำหนัก เพราะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอด และอาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้
– ค่อยๆ เพิ่มเวลาจนสามารถออกกำลังกายต่อเนื่องประมาณ 15 นาที และควรทำเป็นประจำทุกวัน
- โรคเบาหวาน
คำแนะนำ:
– ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
– หากฉีดอินซูลิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีด
– ควรออกกำลังกายหลังฉีดอินซูลินอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อินซูลินเข้ากระแสเลือดเร็วเกินไป
– กีฬาที่แนะนำ คือ การวิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยานช้าๆ รำมวยจีน เป็นต้น
– ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง 2-3 วันต่อสัปดาห์
- โรคความดันโลหิตสูง
คำแนะนำ:
– ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น
– ควรทำต่อเนื่อง 20-60 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
- โรคหอบหืด
คำแนะนำ:
– ใช้การเดิน หรือวิ่งระยะสั้นๆ สามารถพักได้เป็นช่วงๆ หรือการว่ายน้ำก็จะช่วยทำให้ปอดทำงานดีขึ้น
– ต้องควบคุมการหอบหืดให้ได้ก่อนการออกกำลังกาย
– ควรพกยาพ่นขยายหลอดลมติดตัวไว้ตลอดเวลา และควรพ่นก่อนออกกำลังกาย 15 นาที
– หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเมื่อมีอากาศแห้งและเย็น
– ควรออกกำลังกายประมาณ 15-30 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
– หากมีอาการหอบให้หยุดพักทันที พร้อมพ่นยาขยายหลอดลม
ผู้ที่มีโรคประจำตัวสามารถออกกำลังกายได้ แต่ต้องระมัดระวัง ไม่ฝืนตัวเองมากจนเกินไป รวมถึงควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีความผิดปกติในร่างกายระหว่างออกกำลังกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที