หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่เมื่อเป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอ แล้วไปซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) ที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันผิดว่า ‘ยาแก้อักเสบ’ เพราะเชื่อว่าจะทำให้อาการเจ็บไข้หายเร็วขึ้น รู้หรือไม่ว่า ยาที่คุณทานเข้าไปนั้นไม่สามารถรักษาโรคไข้หวัดได้ เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากเชื้อไวรัส
ยาปฏิชีวนะ เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ อย่างที่หลายคนเข้าใจ จริงๆ แล้วยาปฏิชีวนะใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ยาพร่ำเพรื่อนั้นจะก่อให้เกิด ‘อาการดื้อยา’ ได้ ปัจจุบันการจ่ายยาปฏิชีวนะ กว่า 1 ใน 5 ไม่มีความจำเป็น เพราะการเจ็บไข้หลายประเภท สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการพักผ่อน
สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (PHE) ได้คาดการณ์ว่าหากคนไข้ยังไม่เลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ในปี ค.ศ. 2050 อัตราส่วนของผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาทั่วโลกจะพุ่งสูงกว่าการเสียชีวิตจากผู้ป่วยมะเร็ง
สำหรับประเทศไทยนั้นมีติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเสียอีก
จากสถิติดังกล่าว เราทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะให้มากขึ้น โดยปัจจุบันนี้มีกลุ่มโรค 3 กลุ่มที่ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะมากกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มโรคเหล่านี้ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
- ไข้หวัด มีอาการเจ็บคอ
- ท้องเสีย
- แผลเลือดออก
หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรหาทางรักษาตามอาการ เฉพาะกรณีที่มีอาการรุนแรงควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรในการใช้ยาทุกครั้ง
นอกจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อและผิดวัตถุประสงค์ในการรักษาแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุใกล้ตัวที่ทำให้เกิดอาการดื้อยาก็คือ การติดเชื้อจากสัตว์โดยเฉพาะการทานเนื้อหมูที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีการตรวจพบฟาร์มหมูจำนวนมากในประเทศไทยที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ชื่อว่า ‘โคสิลติน’ (Colistin) ที่ไม่ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ในการผสมอาหารให้หมูกินเพื่อป้องกันและรักษาหมูที่ติดโรคท้องร่วงหรือโรคอื่นๆ เกิดเป็นเชื้อดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ ‘เอ็มซีอาร์-วัน’ (MCR-1) ส่งผลให้ผู้ที่ทานเนื้อหมูที่มีสารนี้ตกค้าง หรือแม้กระทั่งผู้ที่เลี้ยงหมูเองได้รับเชื้อเข้าร่างกาย ทำให้เกิดอาการดื้อยาแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงขึ้นได้
อันตรายของการดื้อยาชนิดนี้ก็คือ หากผู้ที่ได้รับเชื้อเกิดการเจ็บป่วยก็จะไม่มียาตัวไหนในโลกที่จะสามารถรักษาได้แล้ว เพราะเชื้อแบคทีเรียนั้นได้พัฒนาตัวเองให้ดื้อยาโคลิสตินซึ่งถือว่าเป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาไปแล้ว อาการดื้อยาจึงเป็นมหันตภัยขั้นร้ายแรงที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังกลัวกันว่าจะทำให้มนุษย์ในอนาคตเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก
ฉะนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดื้อยา เราจึงควรใช้ยาให้เหมาะสมและตรงกับชนิดของโรคที่จะรักษา เอ็กซ์ต้าขอแนะนำว่า การตัดสินใจเลือกใช้ยาปฏิชีวนะควรจะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์หรือคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนใช้เสมอค่ะ