อาการหวัดและ ภูมิแพ้ 🤧 ดูเผิน ๆ อาจคล้ายกัน แต่โรคทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน ทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค อาการแสดง รวมถึงการรักษาบางอย่างที่แตกต่างกัน มาทำความรู้จักกับโรคทั้งสองกันค่ะ
🔷 โรคหวัด หรือไข้หวัด (common cold)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ ไรโนไวรัส (Rhinovirus)
อาการแสดง
เมื่อเป็นโรคหวัดได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล ซึ่งจะมีสีใสหรือขุ่นก็ได้ รวมถึงไอและเจ็บคอ
โรคหวัดพบได้บ่อยในสภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงจากสภาวะต่างๆ ทั้งจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำมากเกินไป แล้วไม่ได้ให้ความอบอุ่นร่างกายเพียงพอ เช่น การนอนเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อร่างกาย การอยู่ในประเทศที่อากาศเย็น การตากฝน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอากาศที่เร็วเกินไป ซึ่งจะทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น
การรักษา
เมื่อเป็นหวัด โดยปกติสามารถหายเองได้ใน 7-10 วัน ไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคหวัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการที่มี
เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาพ่นหรือยาอมแก้เจ็บคอ รวมถึงวิตามินที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อป้องกันและลดระยะเวลาในการเป็นหวัด
🔶 โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือ ภูมิแพ้ อากาศ
เกิดจากการกระตุ้นการทำงานของสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือฮีสตามีน (Histamine) ในร่างกาย โดยสารก่อ ภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศ ฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น
อาการแสดง
อาการที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ อาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก คันตา คันคอ อาจมีอาการไอแห้งๆ ร่วมด้วย ปัจจัยกระตุ้นได้แก่ ฝุ่น อากาศ รวมถึงความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคดังกล่าว อาจมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ โดยผู้ที่เป็นโรค ภูมิแพ้ อากาศ อาจมีประวัติเป็น ภูมิแพ้ ชนิดต่างๆ ด้วย ได้แก่โรคเยื่อบุตาอักเสบ ภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) โรคหืด (Asthma) โรคผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) โดยโรค ภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดต่อ
การรักษาโรค ภูมิแพ้
ใช้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัน จาม น้ำมูกไหล ร่วมกับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อกำจัดฝุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้น ถ้าหากมีอาการภูมิแพ้อากาศเรื้อรัง และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถพิจารณาใช้ยาพ่นจมูก โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง