หลังจากคุณนุสบา ปุณณกันต์ โพสต์ภาพนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล พร้อมข้อความว่าตนเองท้องเสีย จากการติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) พร้อมเตือนให้ทุกคนดูแลสุขอนามัยให้ดีเพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา! วันนี้เอ็กซ์ต้าจึงชวนทุกคนมาทำความรู้จักอาการท้องร่วงจากไวรัสโรต้านี้กันค่ะ
ไวรัสโรต้า (Rotavirus)
เป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุด ในบรรดาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในเด็กเล็ก ไม่เพียงแค่เด็กเท่านั้นที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะฤดูหนาวที่โรคนี้กำลังระบาด ก็ยิ่งทำให้ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถรับเชื้อได้จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ หรือเชื้ออาจติดมากับมือที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงการไอจามรดกัน ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
ไวรัสโรต้าสามารถตรวจพบในอุจจาระของผู้ป่วยได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มอาการถ่ายเหลว โดยระยะฟักตัวของโรคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อเกิน 48 ชั่วโมง และเชื้อไวรัสอาจคงอยู่ได้นานถึง 21 วันหลังจากมีอาการ
อาการของโรค
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรต้าไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อมีระยะฟักตัว 2-4 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไข้สูง และมีอาการของหวัด มีอาการอาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนมีอาการอุจจาระเป็นน้ำอยู่นานประมาณ 3-8 วัน
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดน้ำ หรือถึงขั้นเกิดภาวะช็อคได้ นอกจากนี้อาจมีสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติและภาวะพร่องแลคเตสร่วมด้วย
สำหรับเด็กเล็กในวัย 3 เดือนถึง 2 ขวบ เป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากไวรัสโรต้าได้มากที่สุด จะมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสีย โดยถ่ายเหลวเป็นระยะ 1-2 วัน ซึ่งมีกลิ่นเหม็นเน่า หรืออาจพบอุจจาระเป็นมูกแต่ไม่มีเลือดปนประมาณ 5-7 วัน
การรักษา
ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง
การป้องกันโรค
- รักษาความสะอาดให้ตนเองอยู่เสมอ ด้วยการตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำต้มสุก รวมทั้งการใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
- ในกรณีคุณแม่หลังคลอด ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เด็กจะได้รับภูมิต้านทานโรคจากแม่ ไม่ป่วยง่าย
- ป้องกันเด็กเล็กด้วยการให้วัคซีนโรต้าในเด็กเล็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ 2-3 ครั้งแล้วแต่ชนิดของวัคซีน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรให้แล้วเสร็จก่อนอายุ 6 หรือ 8 เดือนขึ้นกับชนิดของวัคซีน อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง คือ ไข้ ถ่ายเหลว และอาเจียน