ไปเที่ยวผ่อนคลายความเครียดทั้งที ถ้าไม่ระมัดระวังและไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ทริปอาจสะดุดเพราะเจอกับ 5 ภาวะทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างทาง มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
1. เป็นลม
สาเหตุ เกิดจาการที่สมองขาดเลือดหรือออกซิเจนไปเลี้ยงชั่วขณะ จึงทำให้หมดสติไปหรืออาจเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่แออัดมากๆ อากาศร้อนอบอ้าว อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
2. เลี่ยงการอดนอน อดข้าว และดื่มน้ำระหว่างวันให้มากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
3. สวมเสื้อผ้าที่หลวม พอดีกับตัว และไม่ใส่เสื้อที่มีลักษณะคับคอ
4.ลุกจากท่านอนอย่างช้าๆ ควรลุกนั่งพักสักครู่ก่อนจะลุกขึ้นยืน
การปฐมพยาบาล
1.จับผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เร็วและพอเพียง
2.ใช้ผ้าเย็นๆ เช็ดตามหน้า คอและแขนขา
3. เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวควรให้นอนพักต่ออีก15-20 นาทีอย่าเพิ่งให้ลุกขึ้นนั่งทันที
4.เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติแล้ว และเริ่มกลืนได้อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ ถ้ารู้สึกกระหายน้ำหรือให้ดื่มน้ำหวาน ถ้ารู้สึกหิว
สำคัญมาก! ห้ามให้คนมุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก และขณะที่ยังไม่ฟื้นห้ามให้น้ำและอาหารทางปากเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สำลักได้
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
• ผู้ป่วยไม่ฟื้นภายใน 15 นาที
• ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 30 ปี
• มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
• มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขาชา หรืออ่อนแรง
• อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีบาดแผลเลือดออก
• มีภาวะขาดน้ำ อาเจียนรุนแรง ท้องเดินรุนแรงหรือไข้สูง
2.เกิดแผลถลอก
สาเหตุ เกิดอุบัติเหตุ การหกล้ม เข่าถลอก ถูกขีดข่วน เป็นบาดแผลที่ตื้นเพียงแค่ผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น และมีเลือดออกเล็กน้อย แต่ก็อาจเกิดการติดเชื้อได้
การป้องกัน ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ มีสติตลอดทริปการเดินทาง และไม่ควรท่องเที่ยวด้วยความโลดโผนจนเกินไป รวมถึงการใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เช่น ใส่กางเกงขายาวและรองเท้าเดินป่าเมื่อเข้าป่าหรือขึ้นเขา เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งไม้หรือก้อนหินขูดขาและเท้าได้
ปฐมพยาบาล
1. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือสำหรับล้างแผล ถ้ามีเศษหิน ขี้ผง ทราย อยู่ในบาดแผลให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกให้หมด
2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ บาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรครอบๆ (ห้ามเช็ดบนบาดแผล)
3. ใช้สำลีชุบโพวิโดน-ไอโอดีนใส่แผลสด ทาลงบาดแผล
4. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือแผ่นปิดแผลสำเร็จรูป ระวังอย่าให้ถูกน้ำจนกว่าแผลจะหาย
5. ไม่ควรแกะหรือเกาบาดแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้ว เพราะทำให้เลือดไหลอีก
3.ข้อเท้าแพลง
สาเหตุ เกิดจากเอ็นยึดข้อถูกยืดมากเกินไป จนทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อ อาจจะมีเลือดออกภายในผิวหนัง และมีอาการบวมมากน้อยแล้วแต่ว่าเอ็นจะฉีกขาดมากเพียงใด
การป้องกัน เลือกรองเท้าที่กระชับ รัดประคองข้อเท้า และใส่สบาย ตลอดการท่องเที่ยว หากเป็นการออกทริปเดินป่า ขึ้นเขา ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ อย่าเผลอใจลอย เพราะอาจมีพื้นต่างระดับที่ไม่เสมอกัน หรือมีก้อนหิน ขอนไม้ที่จะทำให้เกิดการสะดุดได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.หยุดเดินและนั่งพัก เพื่อดูว่าการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลงมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
2.ใช้ความเย็น (เช่น ผ้าหุ้มน้ำแข็ง )ประคบส่วนที่เจ็บหรือส่วนที่บวม เพื่อลดความเจ็บปวดและจะช่วยทำให้เลือดออกน้อยลง เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว อาการบวมก็จะน้อยลงด้วย *ไม่ควรประคบร้อน หรือใช้สิ่งที่ร้อนๆ ไปนวดในระยะ 24-48 ชั่วโมงแรก เพราะจะยิ่งทำให้บวมมากขึ้น
3.ใช้ผ้าพันส่วนที่บวมเพื่อให้ข้อที่บวมอยู่ไม่บวมมากขึ้น
4.ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดและลดอาการบวม
หากปฐมพยาบาลเบื้อต้นแล้วอาการยังรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์
4.โดนแมลงกัดหรือต่อย
สาเหตุ พิษของแมลงที่กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดบวม แดง คัน แสบร้อน หรือมีตุ่มในใสเกิดขึ้น อาการนี้อาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง บางคนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หน้าบวมตาบวม หายใจไม่ออก มีลมพิษขึ้นทั่วตัว คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจหอบ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 15 – 30 นาที
การป้องกัน ใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่รัดกุมในการเดินทางท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการเดินเข้าไปใกล้ หรือไปรบกวนรังของแมลงต่างๆ ที่อาจจะแอบอยู่ตามพุ่มไม้หรือต้นไม้ต่างๆ
การปฐมพยาบาล
1. รีบเอาเหล็กใน หรือเข็มในออกทันที โดยใช้มีดหรือปลายเข็มสะอาดขูดออก หรือใช้สก็อตเทปปิดทาบบริเวณที่ถูกต่อย แล้วดึงออกเหล็กในก็จะหลุดออกมาด้วย
2. ใช้แอมโมเนียทาให้ทั่วแผลเพื่อทำลายพิษที่จะเข้าสู่ร่างกาย แล้วค่อยประคบเย็นบริเวณที่ถูกต่อยเพื่อให้หลอดเลือดหดตัว เป็นการลดการดูดซึมพิษ และลดการบวม
3. รับประทานยาแก้ปวดและยาแก้แพ้
4. สังเกตอาการหลังจากถูกแมลงต่อยประมาณ 15-30 นาทียังปฐมพยาบาลแล้วยังเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่นหน้าบวมตาบวม หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หรือช็อคให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
5.ท้องเสีย
สาเหตุ ร่างกายได้รับเชื้อโรค และเชื้อโรคจะสร้างสารพิษออกมาทำปฏิกิริยาต่อเยื่อบุผนังของทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและปวดท้อง ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อและชนิดของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนมากมักเกิดจากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด อาหารรสจัด หรือมีเชื้อโรคเจือปนจึงเกิดการติดเชื้อ อาจมาจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ
การป้องกัน ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ การทานอาหารถิ่นที่ไม่คุ้นเคยควรพิจารณาให้รอบคอบ ดื่มน้ำสะอาดอยู่เสมอ และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
การดูแลเบื้องต้น
1. รับประทานยาฆ่าเชื้อ ในกรณีที่ท้องเสียที่ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระหายน้ำ ปากคอแห้ง หน้ามืด ร่วมด้วย
2. ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่(Oral rehydration salts, ORS) สำหรับคนไข้อาเจียนหรือท้องเสียในกรณีที่มีอาการท้องเสียแบบถ่ายเหลว และไม่มีอาการขาดน้ำ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปจากการท้องเสีย โดยใช้การจิบสารละลายเกลือแร่ทีละน้อยๆ แต่จิบบ่อยๆ
*ระวังการรับประทานเกลือแร่ผิดประเภท เป็นเกลือแร่สำหรับการออกกำลังกาย เพราะจะยิ่งทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้นส่วนยาหยุดถ่ายไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง แม้จะมีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลันที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ก็เป็นอันตรายเพราะทำให้การกำจัดออกของเชื้อโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียช้าลงหากจำเป็นต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ต้องไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการต่อไปนี้
• อาเจียนรุนแรง
• มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
• อุจจาระเป็นมูก มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
• ปวดท้องมากร่วมกับท้องเสีย• มีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมงและอ่อนเพลียมาก
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้สูงอายุ ไม่ควรรักษาเอง