พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือที่เราอาจได้ยินในชื่อ อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ายาชนิดนี้จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัย ราคาไม่แพง สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการใช้กันแพร่หลายในเรื่องของการลดไข้ และบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดฟัน
อย่างไรก็ตาม พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มักใช้ยา พาราเซตามอล เกินกว่าปริมาณที่กำหนด เนื่องจากมองว่าเป็นยาพื้นฐานที่มีความปลอดภัย และอาจเข้าใจว่าสามารถใช้ได้ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จากการค้นหาพบว่า มีคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอล ดังนี้
ตอบทุกข้อสงสับการใช้ พาราเซตามอล
- ยา พาราเซตามอล ทานกี่เม็ด และห้ามทานเกินกี่วัน?
ตอบ ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานได้ครั้งละไม่เกิน 2 เม็ด (1,000 มิลลิกรัม; มก.) รับประทานห่างกันครั้งละ 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 8 เม็ด (4,000 มก.) และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน
อธิบาย ยาพาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมรับประทาน คือ ยาเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 500 มก. ในการรับประทานยาพาราเซตามอล 1 ครั้ง สามารถให้ยาขนาด 10 – 15 มก./น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง (แต่ต้องไม่เกิน 1,000 มก./ครั้ง)
ตัวอย่าง : น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรรับประทานครั้งละ 500 – 750 มก. หรือเท่ากับ 1 – 1.5 เม็ด
- ยา พาราเซตามอล ต้องทานตอนไหน?
ตอบ ควรทานเมื่อมีไข้หรือมีอาการปวด และสามารถรับประทานยาได้ทั้งตอนท้องว่างหรือหลังอาหาร
อธิบาย เพราะยาพาราเซตามอลไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของตัวยา
- คนท้องทานยาพาราเซตามอลได้ไหม?
ตอบ หญิงตั้งครรภ์สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ โดยแนะนำรับประทานครั้งละ 1 – 2 เม็ด ห่างกันทุก 6 ชั่วโมงเมื่อมีไข้หรือมีอาการปวด
อธิบาย ยาพาราเซตามอลจัดเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่มีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์เมื่อใช้ในขนาดการรักษา
- กินทุเรียนร่วมกับยาพาราเซตามอลได้หรือไม่?
ตอบ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาผลของการกินทุเรียนร่วมกับยาพาราเซตามอลในคนโดยตรง ความเชื่อนี้จึงยังไม่ชัดเจน
อธิบาย เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าเมื่อกินทุเรียน อุณหภูมิร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น และห้ามรับประทานยาพาราเซตามอลเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่าทุเรียนทำให้อุณหภูมิร่างกายของหนูเพิ่มสูงขึ้นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น และหนูทดลองกลุ่มที่ได้ทุเรียนร่วมกับยาพาราเซตามอลกลับช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงได้ ส่วนกลไกของการเกิดพิษนั้นไม่สามารถระบุได้
- ยาพาราเซตามอลเม็ดกลม ต่างกับเม็ดรีอย่างไร?
ตอบ ไม่แตกต่างกัน
อธิบาย เม็ดยาแต่ละยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดกลม เม็ดรี เม็ดเหลี่ยม หรืออาจจะมีสีของเม็ดยาที่แตกต่างกัน สีขาว/สีฟ้า/สีเหลือง ในเม็ดยาจะมียาพาราเซตามอล 500 มก. ที่ออกฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ได้เหมือนกัน
- ปวดท้องประจำเดือน กินยาพาราเซตามอลได้ไหม?
ตอบ ปวดท้องประจำเดือนเล็กน้อย ไม่รุนแรง สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล 1 – 2 เม็ด (ขนาดตามน้ำหนักตัว) โดยรับประทานห่างกันครั้งละ 4 – 6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการปวด
อธิบาย หากมีอาการปวดท้องประจำเดือน สามารถใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหรือแผ่นแปะแก้ปวดท้องประจำเดือน ณ ตำแหน่งที่ปวด ในกรณีที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นและการรับประทานยาพาราเซตามอลไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
นอกจากนี้ การใช้ยาพาราเซตามอลยังมี ข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้
- ผู้ป่วยโรคตับ
- ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำซึ่งการใช้ยาพาราเซตามอลอาจทำให้เกิดพิษกับตับจากยาได้มากขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีการรับประทานยาหลายตัวอาจเกิดการได้รับยาพาราเซตามอลซ้ำซ้อนจากการใช้ได้โดยไม่รู้ตัว อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินความจำเป็น และอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้มากขึ้น
- ผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอล หากเกิดผื่น ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- การใช้และปัญหาจากยาใกล้ตัว : ทำความรู้จักยาพาราเซตามอล (paracetamol) (no date) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. Available at: https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/knowledge_general_population/paracetamol (Accessed: 21 March 2024).
- Hospital, F. of M.S. (no date) ·Ã. 02 419 7000, ¤3Ðá¾·ÂÈÒʵÃìÈÔÃÔÃÒa¾ÂÒoÒÅ ÁËÒÇÔ·ÂÒÅÑÂÁËÔ´Å. Available at: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1300 (Accessed: 21 March 2024).
- (No date) การใช้ยาอย่างปลอดภัยใน… Available at: http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/133_2018-04-03.pdf (Accessed: 21 March 2024).
- Resolve a DOI name (no date) Resolve a DOI Name. Available at: https://dx.doi.org/ (Accessed: 21 March 2024).
- (No date a) Thaihealthwatch. Available at: https://resourcecenter.thaihealth.or.th/thaihealth-watch (Accessed: 21 March 2024).
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง