วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีเมื่อถูกงูกัด
- พยายามทำให้ผู้ป่วยคลายความกังวลและมีสติ
- ถอดเครื่องประดับ และเสื้อผ้าที่อาจกดรัดอวัยวะส่วนที่ถูกกัดออก
- ล้างแผลให้ผู้ที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด
- ให้ผู้ที่ถูกงูกัดนอนในท่าที่สบายและเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด แล้วผ้ายืดหน้ากว้าง 10 – 15 ซม. และมีความยาวอย่างน้อย 4.5 เมตร หรือใช้ผ้าอะไรก็ได้ที่มีความยาวเพียงพอพันรอบอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดทั้งส่วนให้กระชับและไม่แน่นจนเกินไป โดยเริ่มจากส่วนปลายหรือบริเวณรอบนิ้วมือ หรือ นิ้วเท้ายาวต่อเนื่องมาจนสุดอวัยวะ แล้วทำการดามอวัยวะส่วนที่ถูกกัดด้วยของแข็งเพื่อดามอวัยวะส่วนที่ถูกกัดไม่ให้เคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
- รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับทันที
ข้อห้ามที่ไม่ควรทำเมื่อถูกงูกัด
- ไม่ควรใช้ไฟจี้หรือใช้มีดกรีดบาดแผลที่ถูกงูกัด เพราะจะทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ยาก และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณแผลได้
- ไม่ควรทำการขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้อวัยวะส่วนนั้นขาดเลือดได้
- ไม่ควรใช้ปากดูดแผลที่ถูกงูกัด เพราอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณแผล และหากว่าผู้ที่มาดูดแผลให้มีแผลในปากก็อาจได้รับอันตรายจากพิษงูได้
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยที่โดนงูกัดดื่มสุรา เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูต่อระบบประสาท
- ไม่ควรให้ยากระตุ้นหัวใจ มอร์ฟีน ยาระเหย หรือยาแก้แพ้ต่างๆ เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูต่อระบบประสาท
- ไม่ควรถู ขัด และนวดที่บาดแผลที่ถูกงูกัด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณแผล และอาจทำให้มีเลือดออกมากขึ้นและร่างกายดูดซึมพิษได้เร็วขึ้น
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
ไม่ควรขันชะเนาะเนื่องจากถ้าทำไม่เป็นอาจทำให้อวัยวะขาดเลือดได้ ควรแค่เอาผ้าพันอวัยวะที่ถูกกัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว ล้างแผลด้วยน้ำเปล่า และไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ที่สำคัญห้ามใช้ปากดูด หรือกรีดแผล หรือรีดแผล รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจี้ เนื่องจากจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
ที่มา : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล